มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย หรือ wfft.org เผยภาพ ช้างไพลิน วัย 71 ปี กระดูกสันหลังยุบ เพราะทำงานรับนักท่องเที่ยวนาน 25 ปี สะท้อน โลกและมนุษย์ควรให้ความสำคัญ และเห็นใจ ชีวิตสัตว์ ให้มากกว่านี้
ใกล้ถึง วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งถือเป็น วันช้างไทย เข้ามาทุกขณะ โดยในปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาณ จีน เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย และล่าสุด ก็ยังเกิดภาพที่สุดสะเทือนใจในโลกออนไลน์ ใกล้กับวันช้างไทย 13 มีนาคมอีก... เมื่อมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand: WFF) ได้เผยแพร่ภาพช้างตัวเมีย บนวัยชรา 71 ปีตัวหนึ่ง ช้างตัวนี้มี ชื่อ “คุณยายไพลิน”
จากภาพที่ปรากฏออกมานั้น จะเห็นถึง ความผิดปกติของรูปร่าง โดยกระดูกสันหลังของ “คุณยายไพลิน” ได้เสื่อมสภาพลงไปแบบตามกาลเวลา แต่ทว่า มันผิดรูป ผิดปกติไปมากๆ และเสียหายถาวร จากที่โค้งมนและยกขึ้นตามธรรมชาติ กลายเป็นยุบตัวลาดต่ำลง ทั้งนี้ ก็มาจาก ในอดีต ช้าง ไพลินเป็นช้างที่ถูกมนุษย์นำตัวมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แบกนักท่องเที่ยวขึ้นหลังเดินป่ามานาน 25 ปี บางรอบอาจมีนักท่องเที่ยวมากถึง 6 คน นอกจากนี้ยังต้องแบกควาญช้างและสัปคับ (ที่นั่งบนหลังช้าง)ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สถานการณ์ช้างไทย ช้างเอเชียปี 2022 พี่ใหญ่แห่งพงไพร ใครเล่าจะเก๋าเท่าพี่
ปิดตำนาน แดงซ่า ช้างประจำเขาสอยดาวล้มแล้ว จากเหตุรั้วไฟฟ้าช็อต
อย่างไรก็ตาาม มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไพลิน และช้างอื่น ๆ รวม 22 เชือก อยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดพระพุทธบาทเขาลูกช้าง จ.เพชรบุรี โดยทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2007
ด้าน เอ็ดวิน วิค ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง WFFT กล่าวว่า ช้าง ไพลินมาถึงสถานพักพิงตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว หลังจากต้อง ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมายาวนาน ช้างไพลินถูกเจ้าของคนก่อนทอดทิ้ง เพราะรู้สึกว่าเธอเชื่องช้าเกินไป มักเจ็บปวดตลอดเวลา และไม่สามารถทำงานได้ดีอีกต่อไป
•13 มี.ค. วันช้างไทย ส่องดูสถานการณ์ช้างในปัจจุบัน
สำหรับ ปัจจุบัน สถานการณ์ ช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในไทย ประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว
โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น
แต่ในทางกลับกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่ากลับ “เริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม” เนื่องจากผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าดังกล่าว ไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน
• จำนวนช้างบ้านในไทย จำนวนลดลงต่อเนื่อง
ส่วน จำนวน ช้างบ้านในประเทศไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2500 มีช้างภายในประเทศราว 12,500 เชือก แต่ในปัจจุบันปี พ.ศ. 2565 ช้างในประเทศไทยเหลือเพียง 3,800 เชือก จำนวนช้างลดลงกว่า 70% ในช่วง 65 ปี หรือปริมาณช้างหายไปเท่ากับหนึ่งช่วงอายุขัย
ในจำนวนช้างกว่า 3,800 เชือก แบ่งเป็นช้างภายใต้ความดูแลของชาวบ้าน ควาญช้าง และเอกชน (ปางช้าง) ประมาณ 3,200 เชือก ขณะที่ช้างในความดูแลของภาครัฐมีประมาณ 100 เชือกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช้างในองค์การส่วนสัตว์ บางส่วนเป็นช้างขององค์กรหรือมูลนิธิ ขณะที่ช้างอีก 200-300 เชือก เป็นช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและมีการการันตีรายได้ให้ควาญช้าง
ที่มา thaielephantalliance