พรรคเพื่อไทย ชี้ หากได้เป็นรัฐบาล pm 2.5 จะต้องหมดไป ชี้สิทธิ์หายใจในอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชน, ไทยสร้างไทย อัดรัฐ ไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพประชาชน ขณะที่ ประชาธิปัตย์ ชวน ประกาศสงครามกับ PM 2.5 เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
•สิทธิ์หายใจในอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชน
นายนพดล ปัทมะ รองประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครติดอันดับโลก อยู่ในขณะนี้ และอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากสภาพอากาศปิด รถยนต์สันดาปภายใน โรงงาน เป็นต้น
ขณะที่ในหลายจังหวัดประสบปัญหาจากการเผาป่า เผาไร่ ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาเป็นแบบไฟไหม้ฟางและปลายเหตุมาตลอด พรรคเพื่อไทย เห็นว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว หากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาโดย
1. เข้มงวดห้ามเผาป่า เผาไร่เช่น อ้อย ข้าวโพด และของเหลือจากผลิตผลทางการเกษตรอย่างเคร่งครัด พร้อมกับดำเนินนโยบายปลูกป่าเศรษฐกิจขนานใหญ่ ได้ทั้งการแก้ปัญหาโลกร้อนและซับฝุ่น pm 2.5
2.เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นไร้พรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยการเจรจากับมิตรประเทศ เพื่อร่วมมือกันกำจัดฝุ่นที่ต้นตอ ไม่ให้มีปัญหาเผาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีนำซากผลผลิตทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหรือพลังงาน
3. เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเครื่องยนต์ดีเซลในกรุงเทพมหานครที่มีประมาณ 7,000-8,000 คัน เป็นรถไฟฟ้า อีวี ตั้งเป้าภายใน 4 ปี หากทำได้จะทำให้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 เบาบางลงอย่างมาก รวมทั้งตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานในจังหวัดรายล้อมกรุงเทพฯอย่างเข้มงวด เข้มงวด site ก่อสร้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4.สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมสีเขียว โดยเร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ผลิตชิ้นส่วน แบตเตอรี่ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงรถไฟฟ้าในราคาสมเหตุสมผล ลดการใช้รถสันดาปภายใน และจะแก้ไขปัญหาขีดความสามารถของประเทศ และยังช่วยลดแหล่งกำเนิด pm 2.5 ได้อย่างเป็นระบบ
5. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เพื่อวางโครงสร้างทางกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดของพี่น้องประชาชน เพราะอากาศสะอาดเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน
“ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ไม่เลือกคนรวย คนจน เด็กอนุบาล หรือผู้สูงอายุ เราจะไม่ปล่อยให้แก้ปัญหาแบบนี้อีกต่อไป พรรคเพื่อไทยมา เรื่องฝุ่น pm 2.5 ต้องหมดไป ต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและโดยแก้เริ่มจากได้การมีรัฐบาลใหม่ที่เอาจริงเรื่องนี้"นายนพดล กล่าว
• ไทยสร้างไทย อัดรัฐ ไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพประชาชน ปล่อย PM2.5 ฟุ้ง จี้รัฐเร่งผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด
ในขณะเดียวกัน นางสาว ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย แสดงความห่วงใยประชาชนชาวกรุงเทพฯ เนื่องจากตลอดสัปดาห์นี้มีแนวโน้มค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงกว่าปกติ สาเหตุหลักมาจากเพดานการลอยตัวของอากาศในเมืองต่ำลง ทำให้สถานการณ์อาจจะหนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมแนะนำว่าหากเป็นไปได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงพิจารณา Work from home เพื่อความปลอดภัย หรือควรใส่หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยสองชั้นกรณีออกมาข้างนอก
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นมาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยมักเกิดเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายน และจะเบาบางลงเมื่ออากาศร้อนขึ้นในเดือนเมษายน แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากหลายสาเหตุ ทั้งควันจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะรถดีเซลเก่าที่ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ไม่ดี การเผาขยะ การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ไฟป่าทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและการลักลอบเผาป่า การก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลควรเร่งจัดการปัญหาตั้งแต่ระยะสั้น-กลาง-ยาว และเร่งหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ
ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand) เปิดเผยว่าตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดีเพียง 83 วัน จากทั้งหมด 365 วัน หรือคิดเป็นแค่ 22.7% ตลอดทั้งปี
โดยส่วนใหญ่อากาศดีจะอยู่ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่มิ.ย.- ก.ย. แต่ในฤดูอื่นๆ คนกรุงเทพฯ แทบจะไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าการได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในระยะยาว เป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 29,000 คน ในปี 2021
โดยเว็บไซด์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเทศไทย ระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี ในขณะที่องค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM 2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก
โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวต่อว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว และควรเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ของเครือข่ายอากาศสะอาด หลังจากยื่นเสนอต่อรัฐสภาไปตั้งแต่เดือน มกราคม 2565 ซึ่งผ่านมา 1 ปี ร่างดังกล่าวยังไม่สามารถที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากยังรอการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหลือการตอบรับจากกระทรวงการคลัง จึงยังไม่สามารถนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้ และก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านการพิจารณาทันอายุรัฐบาลนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้
“รัฐบาลไม่สนใจประชาชน ไม่คำนึงถึงสุขภาพชีวิตของผู้คน ทั้งๆ ที่เคยประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม แต่เมื่ออยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเอง กลับเพิกเฉยและปัดตกร่าง พรบ. ดังกล่าวไป” นางสาวธิดารัตน์กล่าว
“ดร.เอ้ สุชัชวีร์” ชวน ประกาศสงครามกับ PM 2.5
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชักชวนให้พวกเราได้เวลาประกาศสงครามกับปัญหา PM 2.5 กันแล้ว โดยในวันนี้ พบว่าค่าฝุ่นของกรุงเทพหนักหนามาก บางช่วงเวลาติด TOP 3 เมืองสำคัญที่อากาศแย่ของโลกไปแล้ว
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าแม้ที่ผ่านมาภาครัฐ จะพยายามออกหลายๆ มาตรการ แต่ดูเหมือนจะเป็นเพียงช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ให้กับประชาชนไปพลางก่อนเท่านั้น เพราะวันนี้ปัญหาก็ยังคงอยู่ รวมทั้งมาตรการที่ผ่านมาก็ดูไม่ยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าในปีถัดไปพวกเราก็คงต้องกลับมาเจอกับปัญหานี้อีก
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้เสนอ 2 แนวทางการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน
1. “กำหนดเป้าหมาย” หากเราไม่กำหนดเป้าหมายก็คงยากในการพิชิตสงคราม การกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้เราสามารถหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
2. “ออกกฎหมายอากาศสะอาด” นำมาประกาศบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแล และแก้ปัญหา PM2.5 จะได้สามารถนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ในการทำสงครามกับ PM 2.5 ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็เปรียบเสมือนนักรบที่ไม่มีอาวุธ ต่อให้รู้วิธีในการเอาชนะสงคราม แต่ไม่มีอาวุธก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามได้ หลายๆ ประเทศที่รู้ตรงจุดนี้เขามุ่งมั่นผลักดันออกกฎหมาย ปรับแก้ บังคับใช้อย่างจริงจังจนแก้ปัญหาได้
แน่นอนว่านอกจากการออกกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมี “คณะกรรมการอากาศสะอาด” ที่เปรียบเสมือนเสนาธิการ แม่ทัพ ซึ่งจะทำหน้าที่กำกับดูแล วางนโยบาย ดำเนินการ และติดตามการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งคณะกรรมการนี้ ควรประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีอำนาจจากหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน