องค์การอนามัยโลก ได้อนุมัติวัคซีนต้านเชื้อโควิด19 ของซิโนแวค สัญชาติจีนตัวที่สอง เป็นวัคซีนล่าสุดจากทั้งหมด 7 ตัว ที่สามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยจะเร่งส่งเข้าโครงการโคแว็กซ์
เทดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด19 ของจีน ที่ผลิตโดย ซิโนแวค เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน นับเป็นวัคซีนสัญชาติจีนตัวที่สอง ต่อจาก ซิโนฟาร์ม ที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะส่งเข้าโครงการโคแว็กซ์ ที่กระจายวัคซีนโควิด19 ให้ทั่วโลกอย่างเท่าเทียม
"วัคซีนซิโนแวค มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรับประกันคุณภาพหลังฉีดวัคซีนสองโดส ไร้อาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และมีความง่ายดายในการจัดส่ง เหมาะแก่ประเทศที่มีทรัพยากรต่ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือการนำวัคซีนกระจายไปให้ประเทศที่ต้องการ" เทดรอส ผอ.องค์การอนามัยโลก กล่าว
กลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (SAGE) ของ WHO ได้แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ควรเว้นระยะสองโดสระหว่างสองถึงสี่สัปดาห์
วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค รูปแบบเดียวกันกับวัคซีนซิโนฟาร์ม ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิที่เย็นจัด ไม่เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่เย็นจัด จึงยากต่อการขนส่ง
การศึกษาประสิทธิภาพพบว่าวัคซีนซิโนแวค ป้องกันโรคตามที่ควรจะเป็น แม้หลายประเทศจะทดสอบประสิทธิภาพได้ผลที่แตกต่างกัน และต่ำกว่าวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา แต่ก็เกินเกณฑ์ประสิทธิภาพ 50% ขององค์การอนามัยโลก
ซิโนแวคเป็นวัคซีนตัวที่แปดที่ได้รับอนุญาติใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงวัคซีนจาก ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, แอสตราเซนเนก้า, โควิดชีลด์ (แอสตราเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มอินเดีย), บารัต, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา และ ซิโนฟาร์ม
ซิโนแวค ได้กระจายวัคซีนมากกว่า 600 ล้านโดส ให้กับหลายสิบประเทศ ไม่ว่าจะจีนแผ่นดินใหญ่, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ตุรกี, ชิลี, เม็กซิโก, ไทย และบราซิล
และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกให้กับโครงการโคแว็กซ์ตามรายงานของซินหัว
ข้อมูลจาก CNN