svasdssvasds

แจกถุงยางฟรี : ของที่ระลึกวัฒนธรรม "โอลิมปิก"ที่คาดไม่ถึง

แจกถุงยางฟรี : ของที่ระลึกวัฒนธรรม "โอลิมปิก"ที่คาดไม่ถึง

อาจเป็นเรื่องย้อนแย้งและกลายเป็นประเด็นคำถามชวนหัว ชวนสงสัย เพราะโอลิมปิก 2021 กรุงโตเกียว ที่จัดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นครั้งแรก มีคู่มือนักกีฬาระบุว่า ห้ามใกล้ชิดสัมผัสกัน ขนาดว่าห้ามใกล้กันเกิน 6 ฟุต แต่ธรรมเนียมการแจก "ถุงยางฟรี" ให้กับนักกีฬาโอลิมปิกยังมีเหมือนเดิม... แล้วนักกีฬาจะนำ "ถุงยางฟรี" ไปใช้ทำอะไร ?

• โอลิมปิก-ถุงยางเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

 มหกรรมกีฬาโอลิมปิก กับ ถุงยางอนามัย ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงแล้ว ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันมานานแล้ว โดยจุดเริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่า 30 ปี โดยในโอลิมปิก1988 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ มีการแจกถุงยางอนามัยให้กับนักกีฬาที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรก เหตุผลเพราะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ HIV ซึ่งเป็นโรคระบาดในห้วงเวลานั้น แต่ไม่วายตอนนั้นก็เกิดปัญหาชวนปวดหัวอีก เมื่อพบถุงยางหลายชิ้นที่ใช้แล้ว บริเวณกลางแจ้งในหมู่บ้านนักกีฬา ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องออกกฏเหล็ก ห้ามกุ๊กกิ๊กกันกลางแจ้ง...

กลับมาที่ประเด็นการแจกถุงยางฟรี...สถิติตัวเลขการแจกถุงยางอนามัยในโอลิมปิกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีเรื่องราวสถิติที่น่าสนใจ อาทิ ปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปนถูกแจกจ่ายหมดไปในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่ โอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จำนวนถุงยางแจกฟรีได้เพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ชิ้น ปรากฏว่าไม่พอใช้ ต้องรีบนำมาเพิ่มอีก 20,000 ชิ้น , ขณะที่ โอลิมปิกครั้งล่าสุด ริโอ เดอ จาเนโร 2016 ที่บราซิล ตัวเลขพุ่งสูงถึง 450,000 ชิ้นไปแล้ว 

• เปิดข้อมูลแจกถุงยางในโอลิมปิก

ทั้งนี้ การแจกถุงยาง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับ เพราะจุดแจกถุงยาง จะตั้งอยู่แต่ในหมู่บ้านนักกีฬาเท่านั้น โดยจะมีบริการกล่องใส่ถุงยางวางไว้ในห้องสุขาทั้งชายและหญิง 


    โดยตัวเลขการแจกถุงยางอนามัยในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา  มีดังนี้ 
    • โอลิมปิก 1988 โซล : 85,000 ชิ้น
    • โอลิมปิก 1992 บาร์เซโลน่า : 90,000 ชิ้น
    •โอลิมปิก 1996 แอตแลนต้า : 15,000 ชิ้น 
    • โอลิมปิก 2000 ซิดนี่ย์ : 90,000 ชิ้น 
    • โอลิมปิก 2004 เอเธนส์ : 130,000 ชิ้น
    • โอลิมปิก 2008 ปักกิ่ง : 100,000 ชิ้น
    •โอลิมปิก 2012 ลอนดอน : 150,000 ชิ้น 
    • โอลิมปิก 2016  ริโอฯ : 450,000 ชิ้น 
    • โอลิกปิก 2021 โตเกียว : 150,000 ชิ้น 

•  นักกีฬาฮอร์โมนพลุ่งพล่าน

ทั้งนี้ หมู่บ้านนักกีฬาเป็นสถานที่ที่นักกีฬาจะมากุ๊กกิ๊กกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาที่ไม่ได้หวังเหรียญรางวัล มาแข่งขันเพื่อประสบการณ์ หรือนักกีฬาที่แข่งเสร็จแล้ว จึงไม่ต้องเครียดกับการเตรียมตัวลงแข่งขันอีกแล้ว ทุกคนสนุกสนาน ปลดปล่อยได้เต็มที่ ซึ่งนักกีฬาที่เข้าแข่งขันโอลิมปิกนั้น ร่างกายฟิตเต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นโสด ฮอร์โมนพลุ่งพล่านดังนั้นเรื่องกุ๊กกิ๊กจึงห้ามใจไม่ไหว และอาจเป็นเรื่องของการสร้างเพื่อนใหม่ หรือสานความสัมพันธ์กันด้วย

 
    อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งมองว่า ถุงยางอนามัย จะใช้ในการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น เพราะนักกีฬาบางคนที่ไม่ได้ใช้ ก็อาจจะอยากเก็บไว้เป็นเพียงของที่ระลึก เพราะการเป็นนักกีฬาโอลิมปิกนับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆกับทุกคน ในเมื่อมี "ของที่ระลึก" ที่พอจะหยิบฉวยได้ก็ต้องรีบเก็บไว้ก่อน 

•  โตเกียว 2021จะเป็นอย่างไร ? 

ส่วนสถานการณ์โอลิมปิก 2021 ที่กรุงโตเกียว นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องจัดในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นออกมาตรการจะไม่เปิดให้คนต่างชาติเข้าชมกีฬาเลย เพราะญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นซูเปอร์ สแปรดเดอร์(Super Spreader)  แต่ในประเด็นการแจกถุงยางที่ญี่ปุ่นก็ยังมีนวัตกรรมใหม่ มานำเสนอโดยเน้นจุดขายบางเฉียบเพียง 0.01-0.02 มิลลิเมตร


    และยังมีอีกหนึ่งคำถามใหญ่ เพราะโอลิมปิก 2021 ครั้งนี้ ได้ออกคู่มือเป็นแนวทางให้นักกีฬาปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19  โดยนักกีฬาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น ซึ่งหมายรวมถึงห้ามกอด หรือ หลีกเลี่ยงการตีมือแสดงความยินดี หรือไม่ควรเข้าใกล้กันเกิน 6 ฟุต แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการแจกถุงยางฟรี 150,000 ชิ้น ...แล้วแบบนี้ นักกีฬาจะใช้ถุงยางกันอย่างไร? ...แต่ที่แน่ๆ การันตี 150,000 ชิ้นที่ญี่ปุ่นแจก ไม่มีเหลือแน่นอน

related