svasdssvasds

นักอาชญวิทยาแนะครอบครัวรับมือสื่อใหม่ ก่อนลูกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ

นักอาชญวิทยาแนะครอบครัวรับมือสื่อใหม่ ก่อนลูกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ

นักอาชญวิทยา แนะนำให้ครอบครัวปรับตัวเปิดอกพูดคุยเรื่องเพศกับลูก เพื่อเข้าถึงความคิดอ่านของเด็กปัจจุบัน ความท้าทายของผู้ปกครองในยุคดิจิทัล รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและปัญหาอาชญากรรมทางเพศกับเด็ก ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

จากข่าวน่าเศร้าและสะเทือนใจคนทั้งประเทศ แม่พาลูกสาว 9 ขวบ ขายบริการ ซ้ำยังเป็นคนถ่ายคลิปด้วยตัวเอง เพื่อโพสต์ขายทางช่องทางออนไลน์ โดยอ้างว่าเดือดร้อนเรื่องเงินจนนำไปสู่การจับกุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกมาแสดงความห่วงใยเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร ที่มีแพร่หลายออนไลน์ โดยกำชับให้ตำรวจและดีอีเอส เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายกันมากขึ้น รวมถึงการฝากให้ผู้ปกครองสอดส่องดูแลบุตรหลานในการใช้สื่อออนไลน์ไปในทางที่เหมาะสม 

 

ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรับแจ้งเบาะแสสำหรับให้ประชาชนที่พบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์สามารรายงานเพื่อให้ภาครัฐดำเนินการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ต่อไปควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า นโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ แล้วถ้าอยากระงับเหตุก่อนสายเกิดแก้ต้องทำอย่างไร ทาง Spring News ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์โต้ง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต นักวิชาการในด้านอาชญวิทยา ที่จะมาช่วยไขความสงสัยนี้ไปพร้อมกัน 

 

สถานการณ์สื่อลามกอนาจารและอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยก็ถูกจับตาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การอนาจารเด็ก ล่อลวงเด็กมาถ่ายภาพ นำไปขาย หรือไลฟ์สด บันทึกเก็บไว้ กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกอยู่หลายครั้ง ผลจากการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในด้านบวกและลบมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน โดยการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ โดยที่ไม่มีการกำกับชี้แนะจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ อาจให้ทำให้เด็กๆ ใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เข้าถึงสื่อลามกอนาจารได้

 

ข้อมูลพบว่าเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับ สื่อลามกอนาจาร รวมถึงการตกเป็นเหยื่อมีแนวโน้มมากขึ้น แล้วก็ในขณะเดียวกันก็ถูกล่อลวงผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก หรือรูปที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกันเช่น มีคนต่างชาติ แอดเฟรนมาขอเป็นเพื่อน จนตีสนิท เกิดความเชื่อใจ ให้เงินค่าขนมเพื่อนัดเปิดกล้อง บันทึกคลิปแล้วนำเผยแพร่ในเว็บไซต์มืด เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะถ้าเด็กเยาวชนรู้ไม่เท่าทันกลวิธีเหล่านี้สุดท้ายก็จะตกเป็นเหยื่อ ทั้งสมัครใจและไม่สมัครใจซึ่งข้อมูลพบว่าเด็กไทยมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

พฤติกรรมของเด็กที่เสพติดสื่อลามกมีข้อควรกังวลอะไรบ้าง 
จากข้อมูลนักวิชาการพบว่า ยิ่งถ้าเด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งกับสิ่งที่ เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานของสังคม เช่น เด็กควรเรียนรู้ เอาใจใส่เรื่องการศึกาษา สร้างอนาคต แต่หมกหมุ่นกับสื่อลามกอนาจาร พบว่ามีแนวโน้มที่จะละเมิดกฎหมายในอนาคต และถ้าไม่เร่งแก้ไขพฤติกรรมก็จะละเมิดกฎหมายที่รุนแรงขึ้นและกระทำความผิดซ้ำ เกิดเป็นนิสัยติดตัวไปในวัยผู้ใหญ่ยากที่จะแก้ไข 

 

ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่มักตั้งคำถามว่า ทำไมฆาตรกรต่อเนื่อง ถึงโหดเหี้ยมลงมือกับผู้บริสุทธิ์ โหดร้าย ฆ่าข่มขืน ส่วนหนึ่งก็เพราะเมื่อเริ่มกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ มีความเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน ไม่ได้รีบแก้ไขพฤติกรรมตั้้งแต่เนิ่นๆ  เด็กก็เปรียบเป็นเหมือนผ้าขาว ถ้าเปื้อนก็ต้องรีบซักจะได้ไม่ทิ้งรอยติดไว้นาน ไม่งั้นก็จะละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น 

 

มีเครื่องมือไหนบ้างที่จะช่วยเบาบางปัญหานี้ลงได้ 
เมื่อเด็กประสบเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศมา พ่อแม่ก็ต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดี ต้องไม่ไปมีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิด และต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเด็กเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า ต้องให้ตระหนักว่าถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรียนรู้ว่า วันนึงที่มีอนาคตที่ดีขึ้นสิ่งบันทึกที่เคยทำในอดีตทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจวันนึงอาจเป็นผลเสียกับตัวเค้าเอง ในหน้าที่การงาน ปัจจุบัน digital footprint มันคงอยู่ในโลกออนไลน์และแชร์ต่อไปได้อย่างรวดเร็ว 

 

ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุดต่อพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับระบบการศึกษา นอกเหนือจากการประกันคุณภาพ การจี้ครูให้สอนครบตามเกณฑ์ ก็ควรเน้นให้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนมากขึ้น ในระดับนโยบายก็ต้องเร่งกวดขัน ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของนโยบายภาครัฐ และนโยบายสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งในเชิงเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปราม 

การเลี้ยงดูเด็กในยุคปัจจุบันผู้ปกครองต้องตระหนักกับปัญหานี้อย่างไร 
คุณพ่อคุณแม่ยุคปัจจุบันอาจไม่สามารถเทียบเคียงรูปแบบการเลี้ยงดูที่เคยได้รับสมัยตอนเป็นเด็กมาใช้กับลูกในปัจจุบันได้ เพราะสมัยก่อนการแพร่หลายของข้อมูลข่าวสารนั้นไม่รวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน สังคมเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้นทุกวันเกินกว่าที่เราคาดคิด เช่นเดียวกันความคิดของเด็กและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเช่นกัน พวกเขาสามารถหาข้อมูลเรื่องใดๆ ได้ทันทีทันใด สืบค้นได้เองตลอดเวลา 

 

ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู ก็จะทำให้เข้าไม่ถึง ความคิดและรูปแบบของสังคม เมื่อลูกหลานไปพบเจอกับเรื่องหมิ่นเหม่ที่อาจไม่ถูกใจพ่อแม่ เมื่อไปดุว่าก็จะกลายเป็นสร้างระยะห่าง ทำให้ไม่เชื่อฟัง ต้องใช้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู แทนการสั่งการใช้คำสั่งแบบเดิมที่ตัวเองเป็นเด็ก 

 

สุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" อาจใช้ไม่ได้แล้วเพราะเด็กสมัยนี้ไม่ได้โตมากับวัวแบบก่อน แต่เด็กอยู่กับอินเทอร์เน็ต การพูดคุยให้เกิดการปรับความคิด ฟังเหตุผลก็จะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่ยุค 5G จากตัวอย่างในอังกฤษ มีการเตรียมความพร้อมให้ความรู้คุณแม่ที่วางแผนมีลูก ก่อนตั้งครรภ์ แต่ไทยไม่มี รัฐรณรงค์ให้สร้างครอบครัวและมีลูกเพราะต้องรับมือกับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อยากให้ประชากรมีลูกเยอะๆ เพราะกังวลว่าจะไม่มีวัยทำงาน ไม่มีแรงงาน แต่ค่าใช้จ่ายตามมาอีกหลายอย่างรัฐมีหน้าที่ดูแล หรือให้การสนับสนุนยังไงบ้าง มีการให้ความรู้แม่ก่อนมีลูกมีมั้ย เลี้ยงลูกยังไง ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทำยังไง ไม่ให้เกิดขึ้น 

ภาพครอบครัวยุคใหม่ที่เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีร่วมกัน จาก freepik

รัฐยังให้ความสำคัญในการให้ความรู้น้อยมาก และไม่มีการส่งเสริมให้เตรียมความพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี จึงย้อนกลับไปในส่วนเรื่องของเชิงนโยบาย จะตะโกนร้องให้คนมีลูก รัฐก็ต้องดูแลและสร้างบรรยกาศให้พวกเขาด้วย เพราะการมีลูกหนึ่งคนคือค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

 

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีสิ่งประกอบต่างๆ สนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่าย ค่าเสื้อผ้า ค่าแพมเพิส แล้วไทยล่ะ รณรงค์แล้วให้อะไรบ้าง...คนคิดนโยบายต้องคิดตั้งแต่ต้นทางยังปลายทาง  

 

เพื่อไม่ให้เกิดกรณีมีลูกไม่พร้อม ให้ความรู้ ให้การศึกษาที่ดี พอไปกระทำความผิดเข้าสู่ระบบราชทัณฑ์ ก็จะเกิดคำถามทำไมคนนี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็ต้องย้อนมาดูกันที่ต้นทาง ถ้าเด็กคนนึงที่ติดสื่อลามก จนออกไปทดลองผิดลองถูกเอง บังเอิญเจอผู้หญิงเดินมาคนเดียวก่อเหตุข่มขืนอนาจาร สุดท้ายเหยื่อต่อสู้ ขัดขืน พลั้งลงมือถึงชีวิต พ่อแม่จะกลับมาดูตอนนี้ก็สายเสียแล้วจึงควรตัดไฟแต่ต้นลมให้ความรู้ปูพื้นฐานกันก่อนดีกว่า 

 

ความสำคัญของประเด็นสังคมที่ถูกรัฐมองข้าม 
สังคมไทยให้ความสำคัญกับมิติสังคมน้อยมากๆ มุ่งเน้นเทคโนโลยี โลกอนาคต แต่ปัญหาพื้นฐานในการสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ตรงนี้สังคมไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไป จริยธรรมต้องไปให้ทันเทคโนโลยีเดินไปควบคู่กัน อย่างห่างกันเกินไป ซึ่งปัจจุบันเหมือนจะสวนทางกันอยู่ 

 

ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมแบบไทยมีความได้เปรียบจากสังคมตะวันตก ตามหลักวิชาการกล่าวไว้ว่า ความรักความผูกพันของคนในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขยายแบบไทย ต่างจากตะวันตกที่ลูกเติบโตอายุ 18 ปี แล้วแยกตัวไป ควรเอาข้อได้เปรียบนี้มาช่วยประคับประคองให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น สายใยให้ความรัก มีความสำคัญที่จะเหนี่ยวรั้งเด็กและเยาวชน ให้กระทำหรือไม่กระทำผิดกฎหมาย สร้างความเข้มแข็งของสายใยให้มากยิ่งขึ้นจากที่เป็นเส้นด้าย ปรับเป็นไนล่อน ลวด สลิงเลยก็ได้ จะได้ไม่ขาดง่ายๆ ช่วยดึงเยาวชนไม่ให้ออกนอกกรอบ นอกทางไปไกล


เพิ่มเติมในเรื่องข้อกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ข้อหาและกำหนดโทษไว้ดังนี้

  • การขายคลิปลามกอนาจาร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 

โดยกรณีสื่อลามก อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป เพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนผู้ใดครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ผู้ที่ส่งต่อ ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ ทั้งนี้ ยังมีความผิดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับประชาชนเมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1212 หรือ เฟซบุ๊กเพจ อาสา จับตา ออนไลน์  หรือ m.me/DESmonitor ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

related