"แอนนี่ บรู๊ค" คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสุดสตรอง แบ่งปันวิธีการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเอง โดยมีแกนหลักคือ การเลี้ยงให้เติบโตสมวัยอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เลี้ยงตามปากคนอื่น
การเลี้ยงดูลูกในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเสมอไป หากคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับพัฒนาการของลูกทุกๆช่วงวัย ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะมอบความรักความห่วงใยให้ลูกน้อยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำนั่นคือ การเลี้ยงดูและส่งเสริมให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและมีความสุขควบคู่กันไป
เหมือนอย่างเช่น "แอนนี่ บรู๊ค" อีกหนึ่งคุณแม่คนเก่งที่ "สปริงบันเทิง" ได้หยิบยกวิธีการเลี้ยงลูกของเธอมาแบ่งปันในวันนี้ เนื่องจากแอนนี่ถือเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงลูกได้อย่างดีมาโดยตลอด แม้จะต้องเหนื่อยกายแต่เปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะตอนนี้ "น้องฑีฆายุ" ลูกชายสุดรักสุดหวงโตเป็นหนุ่มแล้ว เรียนหนังสือเก่งสุดๆ แถมยังฉายแววความหล่ออีกด้วย
สำหรับวิธีการเลี้ยงลูกให้เติบโตสมวัย เป็นเด็กที่มีคุณภาพ ตามแบบฉบับ "แอนนี่ บรู๊ค" มีดังต่อไปนี้...
- การเลี้ยงลูกให้ได้เติบโตสมวัย ไม่ใช่เลี้ยงตามปากคนอื่น ผู้ตำหนิบางทีก็ไม่เคยเลี้ยงเด็กเลยด้วยซ้ำ
- ช่วงวัยแรกเกิด-8ขวบ ควรดูแลเรื่อง IQ เบื้องต้นและ EQ นี่สำคัญในวัยนี้มาก เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ 100% ถ้าเป็นเด็กอารมณ์ดี เมื่อพื้นฐาน EQ ดี IQ จะตามมาติดๆ อย่างราบรื่น
- พัฒนาการทางด้านร่างกาย ตั้งแต่อายุ 8-16 ปี ต้องมีสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นร่างกายจะพร้อมกับการปรับเรื่องอาหารและออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อได้อย่างสมบูรณ์
- การเลี้ยงลูกให้สมวัย ไม่ใช่เอะอะตำหนิลูก เช่น อ้วน , ผอม , เตี้ย , ดำ คำพูดเหล่านี้บั่นทอน อย่าพูดกับลูก เพราะลูกจะมีพัฒนาการที่ดี หากคุณใส่ใจจริงๆ"
- และคนอื่นไม่ได้เลี้ยงลูกให้เรา ไม่ต้องแคร์ปากคนไม่ได้เลี้ยง คนที่ควรแคร์ คือคนที่เราคลอดเขามา ok very good สร้างลูกให้มีคุณภาพทางอารมณ์แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนทำความเข้าใจในแต่ละเจเนอเรชั่น เพื่อนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงดูลูกในยุคปัจจุบัน ดังนี้.....
1. Baby Bommers (เบบี้บูมเมอร์)
คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง ปีพ.ศ. 2489-2507 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อายุประมาณ 40-60 ปี เป็นคนมีแบบแผน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว มีความอดทนแม้ความสำเร็จจะใช้เวลานาน มีความจงรักภักดีต่อองค์กร และมักอยู่องค์กรเดิมนานๆ ไม่เปลี่ยนงานบ่อย เป็นยุคที่คนใช้แรงกาย แรงสมองในการทำงานบุกเบิก
2. Generation X (เจเนอเรชั่นเอ็กซ์)
คือ กลุ่มที่เกิดระหว่าง ปีพ.ศ. 2508-2519 มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Baby Buster, Slacker เป็นกลุ่มที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี วัยทำงาน ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเท่ารุ่นก่อน ไม่ชอบการผูกมัด เปลี่ยนอาชีพบ่อย เลือกที่จะอยู่เฉยๆ มากกว่า ไม่ต้องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มักต้องใช้ชีวิตตามเส้นทางที่รุ่นพ่อวางไว้ให้
3. Generation Y (เจเนอเรชั่นวาย)
คือ กลุ่มเกิดระหว่าง พ.ศ. 2520-2537 อายุช่วง 20-30 ปลาย เป็นกลุ่มที่โตมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยี จึงรับข้อมูลข่าวสารจากหลายๆ ด้าน กล้าแสดงออก และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเชื่อว่าจะสำเร็จได้ต้องทำงานหนัก หากต้องเลือกจะเลือกงาน ทำให้แต่งงานช้า รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบการวางเงื่อนไข มีความเชื่อในศักยภาพตนเอง ติดหนี้ติดสินได้ง่าย นิยมเครดิต ชอบความสะดวกสบายทุกอย่าง
4. Generation Z (เจเนอเรชั่นซี)
คือ กลุ่มที่เกิดประมาณ พ.ศ. 2538-2552 เกิดและโตมาในยุคเทคโนโลยีและโซเซียลเน็ตเวิร์ค จึงเปิดรับข้อมูลหลากหลายผ่านสื่อดิจิตอล มีทางเลือกเยอะ มีแนวทางอิสระเป็นของตัวเองชัดเจน เริ่มเรียนเร็วขึ้นและนานขึ้นกว่ารุ่นอื่นๆ ด้วยความสนใจเรื่องรอบตัวในหลากมิติ ทั้งเรื่องศิลปะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคม จึงทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันและโลกแข่งขันทุกอย่าง
5. Generation Alpha (เจเนอเรชั่นอัลฟ่า)
คือ กลุ่มเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นไปเป็นรุ่นลูกของ Gen Y และ Z วัยนี้กำลังเป็นเด็กอนุบาลที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอายุมาก มีลูกน้อย มีเงินทองที่ไม่ต้องดิ้นรนมากเท่ารุ่นอื่น จับอุปกรณ์ดิจิตอล สัมผัสเทคโนโลยีตั้งแต่เกิด เรียนกันมาก นานและหลากหลาย อยู่กับสังคมทุนนิยม มีแนวโน้มเป็นคนวัตถุนิยม คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง เบื่อง่ายและความอดทนต่ำ นิยมความรวดเร็วทันใจ จึงมองหาสูตรความสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าเด็กยุคปัจุบันนี้ไม่ใช่เป็นรุ่นเจเนอเรชั่น Z แล้ว แต่เป็นเจเนอเรชั่นรุ่นอัลฟ่า ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต คุ้นเคยกับความสะดวกและรวดเร็ว
แนวทางการเลี้ยงเด็กยุคใหม่ 'เจนอัลฟ่า'
1. พัฒนาทักษะการรู้คิด
ผู้ปกครองต้องมีการพัฒนาสมอง ในส่วนการรู้คิดให้กับลูกตั้งแต่เด็ก ฝึกให้ลูกคิดและวิเคราะห์เป็น เพราะบางครั้งการสอนแบบอบรมสั่งสอนอาจใช้ไม่ได้ผล ซึ่งการสอนให้เด็กคิดและวิเคราะห์นั้นเริ่มได้ง่ายๆ จากการชวนกันตั้งคำถาม ข้อสังเกต ให้เด็กรู้จักวิธีแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรอง คือคิดว่าเรื่องที่ได้ฟัง ได้เห็น ได้รู้นั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สมควรเชื่อถือไหมสามารถพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดจากทุกด้านมารวบรวมแล้วตัดสินใจว่าสุดท้ายเป็นอย่างไร
2. ทักษะการรู้เท่าทัน
เมื่อเด็กที่คิดเป็นจะรู้เท่าทันในทุกเรื่อง และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย รู้จักคิด ตัดสินใจ วางแผน และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รู้เท่าทันคน ตลอดจนสามารถจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ โดยพ่อแม่อาจใช้วิธีการยกกรณีศึกษาต่างๆ มาสร้างเสริมระบบความรู้เท่าทันให้กับเด็กก็ได้
3. การสร้างจิตสำนึกที่ดี
เกิดขึ้นได้จากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ทำดีให้เด็กดู ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือการมีส่วนช่วยเหลือสังคม ปลูกฝังในสิ่งที่ดี ผู้ใหญ่ต้องใช้วิธีการสั่งสอนที่เกิดจากความรักและสัมพันธภาพที่ดี เมื่อหัวใจของเด็กเปิด สมองของเด็กก็จะเปิดตามไปด้วย เด็กก็จะค่อยๆ ซึมซับนำแบบอย่างที่ดีนั้นไปปฏิบัติจนเกิดเป็นจิตสำนึกที่ดี และกลายมาเป็นจิตอาสาร่วมกันพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดีและมีคุณภาพได้ โดยทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนช่วยกันไม่ว่าจะเป็นบ้าน ชุมชน และโรงเรียน
ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้จักเปิดใจและเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งจากการรับฟัง ผู้ปกครองสามารถสังเกต ทัศนคติ มุมมอง ความคิดของลูกได้ และใช้วิธีการพูดคุย แลกเปลี่ยน สั่งสอน ปลูกฝังสิ่งที่ดีต่างๆ ลงไป เพื่อเด็กจะได้เกิดวิธีคิดที่ดีและถูกต้อง รู้จักการเสียสละ รู้จักการแบ่งบัน เป็นครอบครัวแห่งประชาธิปไตยและนำไปสู่สังคมน่าอยู่ ตลอดจนชักชวนกันเป็นสังคมแห่งจิตอาสากันทั้งประเทศ ไม่ใช่สังคมแบบตัวใครตัวมันอย่างที่เห็นได้ในทุกวันนี้
ที่มา : MOTHER & CARE