svasdssvasds

สงครามรัสเซีย - ยูเครน นโยบายของไทย ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชน

สงครามรัสเซีย - ยูเครน  นโยบายของไทย ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชน

SpringNews สัมภาษณ์ ดำรง พุฒตาล สื่อมวลชนอาวุโส อดีตวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ไทยควรมีท่าทีและบทบาทอย่างไร ในสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน

จากปัญหาน้ำมันแพง สินค้าราคาขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มสูง ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และในสถานการณ์เช่นนี้ที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะลงเอยเช่นใด ? แล้วไทยควรแสดงบทบาทและท่าทีบนเวทีโลกอย่างไร ?

SpringNews สัมภาษณ์ ดำรง พุฒตาล สื่อมวลชนอาวุโส อดีตวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ซึ่งนอกจะแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุกสนาน ตามสไตล์ดำรง พุฒตาล  

ดำรง พุฒตาล สื่อมวลชนอาวุโส อดีตวุฒิสมาชิก (ส.ว.)

ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทย กับรัสเซีย

ดำรง พุฒตาล ได้เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัสเซียที่ดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน ดังต่อไปนี้

“กุศโลบายในการดำเนินการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐบาลไทย ผมว่าต้องระวัง มันละเอียดอ่อนมาก เพราะคู่กรณีทั้งหมด เรามีความสัมพันธ์กับเขาทั้งสิ้นและเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นยูเครน สหภาพยุโรป (EU) นาโต้ (NATO) รวมถึงอเมริกา ที่เป็นหัวเรือใหญ่อยู่ในนาโต้ ตลอดจนรัสเซีย

“ที่สำคัญคนไทยต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคล่าอาณานิคม อังกฤษกับฝรั่งเศสได้เตรียมใช้แม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 ส่วน ในขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ก็เป็นของอังกฤษ ลาว เวียดนาม ก็เป็นของฝรั่งเศส  

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช พระองค์ทรงมีกุศโลบายที่ล้ำลึก ส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่ต่างประเทศ ที่สำคัญก็คือส่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ไปเรียนต่อวิชาทหารม้าฮุสซาร์ (Hussars) ที่รัสเซีย เพราะรัชกาลที่ 5 มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิของรัสเซียในยุคนั้น

“โดยภาพถ่ายของทั้งสองพระองค์ มีข้อความที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ระบุว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นพระสหายสนิทของพระองค์ และพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ทรงรับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย

“ซึ่งยุคนั้นรัสเซียเป็นมหาอำนาจชาติหนึ่ง ยิ่งใหญ่มาก มีกองกำลังทหารจำนวนมาก ทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส เกรงใจไทย ในที่สุดทั้งสองประเทศก็ไม่ได้ไทยไปเป็นเมืองขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศรัสเซีย

ไทยได้รับสิทธิพิเศษจากรัสเซีย ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศ

และด้วยความสัมพันธ์อันดี ไทยจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องขอวีซ่าเข้ารัสเซีย โดยช่วงก่อนโควิด – 19 แพร่ระบาด ชาวรัสเซียนิยมมาท่องเที่ยวเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยแล้วปีละกว่าหนึ่งล้านคน

“และในปี 2550 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนรัสเซีย ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นคนไทยสามารถไปรัสเซียได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัสเซีย

“ที่ผมรู้เรื่องนี้ก็เพราะตัวเองทำธุรกิจทัวร์ และพวกธุรกิจทัวร์ก็ดีอกดีใจกัน เพราะว่าการขอวีซ่าเข้าประเทศต่างๆ มันเป็นปัญหายุ่งยาก เสียเวลา เสียเงินเสียทอง ตรงกันข้ามกับอเมริกา ที่คนไทยต้องขอวีซ่า แต่คนอเมริกันถือพาสปอร์ตเข้ามาประเทศไทยได้เลย แต่คนไทยต้องสอบนู้นสอบเนี่ย เสียเงินเป็นพันๆ ถ้าเขาปฏิเสธ ก็ไม่คืนเงินให้ สำหรับผมแล้วบอกตรงๆ มันแค้นอยู่ในใจ

“ที่ผมเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อให้คนไทยได้เห็นว่า ไทยกับรัสเซียมีสัมพันธ์ไมตรีกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนอเมริกาที่คนไทยบอกว่าเป็นมหามิตรนั้น จะทำอะไรก็เพื่อประเทศของเขา คำนึงถึงผลประโยชน์ของเขาอย่างเดียว”

จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีอเมริกา ในยุคสงครามเย็น

ย้อนอดีตวิกฤตคิวบา เทียบเคียงวิกฤตรัสเซีย - ยูเครน

ดำรง พุฒตาลได้เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้วในยุคสงครามเย็น ที่อเมริกากับโซเวียต (รัสเซีย) เกือบทำสงครามกัน เมื่ออเมริกาทราบว่า โซเวียตกำลังจะตั้งฐานยิงนิวเคลียร์ในประเทศคิวบา ที่อยู่ใกล้กับอเมริกา โดยได้เทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่นำมาสู่สงครามในวันนี้  

“ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ผมเป็นคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศมาโดยตลอด ตอนนั้น จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นประธานาธิบดีอเมริกา แล้วผู้นำของโซเวียต คือ นีกีตา ครุชชอฟ จะเอาอาวุธนิวเคลียร์ไปตั้งในคิวบา จ่อคอหอยอเมริกาเลย เพราะคิวบาอยู่ใกล้ๆ กับอเมริกา เคนเนดีก็ไม่ยอม ทำท่าว่าจะรบกัน ตื่นเต้นกันทั้งโลก เพราะกลัวว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ต่อมานีกีตา ครุชชอฟ ก็ยอมถอย ล้มเลิกการติดตั้งฐานยิงนิวเคลียร์ในคิวบา

“เฉกเช่นเดียวกัน หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ก็คล้ายกับกรณีวิกฤตคิวบา ที่อเมริกาและนาโต้สามารถนำอาวุธไปจ่อคอหอยรัสเซียได้ รัสเซียจึงต้องต่อต้าน มันทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมากลุ่มประเทศตะวันตก หรือนาโต้ ก็ทำไม่ถูก (มีหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต และอยู่ใกล้รัสเซีย ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้แล้ว)

“ผมคิดว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่น่าจะถึงขั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ในทัศนะผมนะครับ แล้วสงครามสมัยนี้ถ้าทิ้งนิวเคลียร์ คนก็ตายเกือบหมดโลก ผมจึงมั่นใจว่าไม่น่าจะเกิดสงครามใหญ่ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ นาโต้เนี่ย พูดสนุกๆ กันก็คือ No Action Talk Only”

องค์การนาโต้

นาโต้ ชนวนสงครามรัสเซีย - ยูเครน ?

ข้อเรียกร้องสำคัญของรัสเซียก่อนบุกยูเครนก็คือ ขอให้ยูเครนล้มเลิกความพยายามที่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ รวมถึงขอให้นาโต้รักษาข้อตกลงก่อนโซเวียตล่มสลาย ว่าจะไม่รับประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งดำรง พุฒตาล มองว่า นั่นเป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง และยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก  

“ถ้าสัญญาอะไรกันไว้ แล้วไม่ทำตามสัญญา มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ผมว่ามันก็มีหลายสาเหตุ อย่าลืมว่าในยูเครนมีสินแร่ที่มีค่ามากมาย ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาวุธนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ส่งไฟไปขายทั่วยุโรป ก็อยู่ที่ยูเครนด้วย

“อย่างคนที่ต่อต้านรัสเซียที่ไปบุกยูเครน อย่าลืมว่าอเมริกาก็เคยมาบอกว่าที่อิรักมีอาวุธชีวภาพ ก็ไปค้นประเทศเขา ไม่เจอก็ส่งกองทัพเข้าไปเลย ที่ลิเบีย ก็ฆ่ากัดดาฟี ที่เยเมน อิหร่าน เยอะแยะ เพราะอเมริกาถือตัวว่าเป็นตำรวจโลก หรือผู้มีอำนาจ สิ่งสำคัญที่ต้องคิดกันก็คือ อเมริกาเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตอาวุธ ถ้าคิดแบบชาวบ้าน ไม่มีสงคราม อาวุธก็ขายไม่ได้ ก็ต้องหาเรื่องก่อสงคราม จะได้ขายอาวุธ

“และผมเคยคุยกับอดีตทูตไทยท่านหนึ่ง ผมก็ถามท่านว่า ตอนแรกเยอรมนีบอกจะไม่สนับสนุนยูเครน แต่ทำไมส่งอาวุธไปช่วย อดีตทูตท่านนั้นก็เล่าว่า ที่บอกไปช่วยคือขายนะ ไม่ใช่ให้ฟรีๆ อันนี้เป็นคำตอบจากอดีตท่านทูตที่ผมนับถือ ข่าวออกมาว่าไปช่วย แต่ความจริงแล้วนั้นก็คือการขาย

“และผมคิดอย่างนี้ครับ อเมริกาตอนนี้กำลังตกต่ำมาก แพ้จีนโดยสิ้นเชิง ทั้งเทคโนโลยี ทั้งเป็นหนี้ ทั้งการค้า เพราะฉะนั้นอเมริกาก็ต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้กลับมาเป็นที่หนึ่งของโลก”

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ความคิดเห็นต่อกรณีไทยร่วมลงมติประณามรัสเซีย

จากกรณีที่ไทยเป็น 1 ใน 141 ประเทศในสหประชาชาติ ที่ร่วมลงมติประณามรัสเซียที่บุกยูเครน ซึ่งดำรง พุฒตาล มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

"ถ้าผู้นำคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักในการดำเนินกุศโลบาย ถ้าคิดแบบผม ที่ยกมือในสหประชาชาติ มันมีสิทธิ์งดเสียงได้ไม่ใช่เหรอ ท้ายที่สุดแล้วต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ผมว่ากระทรวงการต่างประเทศ ต้องยึดหลักการข้อนี้ครับ ถ้ายกมือให้ฝ่ายนี้ ประเทศได้ประโยชน์มากกว่า 70 % ถ้ายกให้อีกฝ่าย ประเทศได้ประโยชน์ 30 % เราก็ต้องเลือกฝ่ายที่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ 70 %”

และในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่กำลังจะถึงนี้ ไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าหากกรณีรัสเซีย - ยูเครน ยังไม่ได้ข้อสรุป อาจมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุม ซึ่งดำรง พุฒตาล ได้ย้ำว่า การตัดสินใจต่างๆ ของผู้นำ ต้องยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

“ก็ขอพูดประโยคเดิมว่า ถ้ามีมติอะไรแล้วประเทศชาติประชาชนจะได้ผลประโยชน์มากกว่า เราก็ต้องเอียงไปข้างนั้น แล้วมันสามารถตอบประชาชนได้ว่า ที่เลือกอย่างนั้น ก็เพื่อประชาชน

“เราก็ต้องมาดูว่า ถ้าเลือกทางฝ่ายโจ ไบเดน (อเมริกา) แล้วเราได้ประโยชน์อะไรจากทางตะวันตก หรือเลือกทางฝ่ายรัสเซีย เราจะได้ผลประโยชน์อะไรจากทางฝ่ายรัสเซีย แต่อย่าลืมนะครับ นักท่องเที่ยวรัสเซียชอบมาเที่ยวเมืองไทย มากกว่านักท่องเที่ยวอเมริกัน

“และสุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ ต้องรู้ทันข่าว เพราะข่าวเฟคนิวส์ ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทย สำนักข่างต่างประเทศระดับโลกก็มีเฟคนิวส์ ดังนั้นจะต้องใช้วิจารณญาณ”

related