ศึกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ลุกลามไปยังศึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และล่าสุดการที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ก็แสดงให้เห็นว่า ศึกครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยขอสู้ยิบตา แม้จะต้องแตกหักกับบิ๊กตู่ก็ตาม
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ไม่เข้าร่วมประชุม ครม. เนื่องจากมีวาระการพิจารณาการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่พร้อมจะแตกหักแบบโนสนโนแคร์
แล้วศึกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีที่มาอย่างไร ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงได้กล้าทุ่มกล้าชน SpringNews ขอนำมาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้
1. จุดเริ่มต้น สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นต้นสังกัด โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทย ก็ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความเห็นในการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส ไปอีก 30 ปี นับจากปี 2572 ถึงปี 2602 โดยกระทรวงคมนาคม ที่มี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็มีหนังสือตอบกลับว่าเห็นชอบ ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 24 ตุลาคม 2562 : เห็นชอบ
ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม 2563 : ยืนยันว่าเห็นชอบ
ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มิถุนายน 2563 : ยังยืนยันว่าเห็นชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บังเอิญหรือไม่ ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับล้มประมูลสายสีส้ม ?
บีทีเอส ตอบทุกข้อสงสัย ปมดราม่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า อัตราใหม่ 104 บาท
2. กระทรวงคมนาคม ออกหนังสือหนังสือทักท้วงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
แต่แล้วในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงการคมนาคม ก็ได้ออกหนังสือทักท้วงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส มีข้อทักท้วง 4 ข้อ โดยสรุบดังนี้
- การดำเนินการไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ
- อัตราค่าโดยสาร 65 บาท ยังสูงเกินไป
- การขยายสัมปทาน อาจทำให้รัฐไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด
- ควรรอผลการตัดสินจาก ป.ป.ช. ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบย้อนหลัง
จะว่าไปแล้ว ข้อทักท้วงของกระทรวงการคมนาคม ถือว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราคา 65 บาท ที่สูงเกินไป แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง ทำไมกระทรวงคมนาคมจึงเห็นชอบมาโดยตลอด แต่กว่าจะมีข้อทักท้วง ก็ล่วงเลยเวลาไปปีกว่าๆ แล้ว
3. ศึกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สืบเนื่องมาจากการประมูลรถฟ้าสายสีส้ม ?
จากข้อมูลข้างต้นที่กระทรวงคมนาคม มีหนังสือตอบกลับว่าเห็นชอบกับการดำเนินการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส ถึง 3 ครั้งรวด ครั้งที่ 1 : วันที่ 24 ตุลาคม 2562 / ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม 2563 / ครั้งที่ 3 วันที่ 9 มิถุนายน 2563 แต่แล้วจู่ๆ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กลับมีหนังสือคัดค้าน
คำถามที่ตามมาก็คือ ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ?
ซึ่งจากการเช็กข้อมูลของ SpringNews ก็พบว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังนี้
วันที่ 7 สิงหาคม 2563 : บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ยื่นเรื่องให้มีการปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลตามความประสงค์ของบริษัทดังกล่าว
วันที่ 17 กันยายน 2563 : บีทีเอสยื่นฟ้อง รฟม.(ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม) เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อศาลปกครอง โดยตั้งข้อสงสัยว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายหรือไม่ ?
วันที่ 19 กันยายน 2563 : ศาลปกครอง มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์การประเมินการประมูลใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 : รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 : กลุ่มบริษัทที่สนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ยื่นซองประมูล รวมทั้งบีทีเอส
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 : เกิด 2 เหตุการณ์ซ้อนกันอย่างมีนัยยะ นั่นก็คือ รฟม. ภายใต้สังกัดของกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศเลื่อนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และในวันเดียวกันนั่นเอง กระทรวงการคมนาคม ก็มีหนังสือทักท้วงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส !
หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ที่ไล่เรียงมานี้ ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทั้งหมดนี้ มันเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ หรือ ?
4. ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ?
ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. ที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงคมนาคม มีมติให้ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้บีทีเอส ยื่นฟ้อง รฟม. หลายคดี
ส่วนการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส ก็ถูกเตะถ่วงเรื่อยมา ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ได้สักที กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่การพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส เป็นหนึ่งในวาระที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
แต่แล้วจู่ๆ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง อย่างไม่ไว้หน้าบิ๊กตู่ ซึ่งถูกตีความจากกูรูการเมืองหลายท่านว่า ในศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ลุกลามไปยังศึกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภูมิใจไทยพร้อมสู้ยิบตา แม้จะต้องแตกหักกับบิ๊กตู่ก็ตาม
อ้างอิง
เจาะลึก ตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว แพงเว่อร์ 104 บาท ปัญหาเกิดจากอะไร ?
กทม. VS คมนาคม สรุปปมปัญหา ค่ารถไฟฟ้าฯ พุ่งเป็น 104 บาท ?
ศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ! เปิด 4 ประเด็น คมนาคม ค้าน กทม. ต่อสัญญาสัมปทาน
บีทีเอส ตอบทุกข้อสงสัย ปมดราม่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า อัตราใหม่ 104 บาท
ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?
บังเอิญหรือไม่ ค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับล้มประมูลสายสีส้ม ?
เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม
ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! บีทีเอส เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี
ปัญหาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ? 5 คำถาม ที่ศักดิ์สยาม ต้องตอบ