svasdssvasds

ยุทธวิธีตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เวอร์ชั่น สมชัย “ถ้าไม่สู้ ไม่ชนะ”

ยุทธวิธีตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เวอร์ชั่น สมชัย “ถ้าไม่สู้ ไม่ชนะ”

เปิดใจ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ริเริ่มและดำเนินการแคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ” เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ” คือแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ

โดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้สัมภาษณ์กับ SpringNews ถึงแคมเปญดังกล่าว ดังต่อไปนี้

การดำเนินการของอาจารย์ในแคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ” เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีความแตกต่างกับความพยายามยื่นแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านๆ มาของทั้งฝ่ายค้าน และภาคประชาชนต่างๆ ก่อนหน้านี้อย่างไรครับ ?

“ผมมองจุดอ่อนของการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตว่า ไปรวมหลายเรื่องเข้าด้วยกันในร่างเดียว เพราะฉะนั้นฝ่ายที่พิจารณา เขาก็จะพิจารณาด้วยความลำบากใจ บางทีอาจจะเห็นชอบในเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นๆ มันเป็นเรื่องที่พ่วงเข้ามา ทำให้ไม่สามารถลงมติให้ความเห็นชอบได้

“แต่คราวนี้เรามุ่งไปเรื่องเดียว โดยไม่เอาเรื่องอื่นมาปะปน คือเอาเฉพาะมาตรา 272 วรรคแรก ในเรื่องเกี่ยวกับ 5 ปีแรกที่ให้อำนาจ ส.ว. (บทเฉพาะกาล) มีส่วนรวมในการเลือกนายกฯ เอาแค่วรรคนี้วรรคเดียว เรื่องอื่นก็ยังคงเดิม จึงคิดว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ในการที่จะยกเลิกมาตราดังกล่าวออกไปจากรัฐธรรมนูญ

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา ม.รังสิต

บทความที่น่าสนใจ

การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากส.ว. 1 ใน 3 ซึ่งประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ก่อนหน้านี้มีความพยายามหลายครั้งจากฝ่ายค้าน หรือภาคประชาชน แต่ก็ถูกตีตกตั้งแต่วาระแรกในสภา ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า แคมเปญนี้จะเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ หรือต้องการให้เกิดผลสำเร็จจริงๆ ?

“ถ้าทำก็ต้องทำเต็มที่ครับ ต้องหวังผลสำเร็จ ไม่ใช่เป็นการก่อกระแสเพื่อให้เป็นข่าว เพราะต้องลงทุนลงแรง สำหรับสุดฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องหวังผลให้เกิดความสำเร็จ และผมเชื่อว่า ส.ว. เอง ก็เป็นคนที่มีเหตุผล ในสถานการณ์ปัจจุบันเนี่ย ยังมีความจำเป็นหรือไม่ ที่ ส.ว.จะหวงอำนาจในการเลือกนายกฯ เอาไว้

“เพราะ ส.ว. เคยพูดว่า ที่เขาจำเป็นต้องเลือก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่ต้องทำ ส.ว.เองจะว่าอย่างไร

"ท่านเอง (ส.ว.) เป็นฝ่ายที่จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ และเมื่อตัดสินใจแล้ว ท่านก็ต้องมีเหตุผลที่จะตอบประชาชนได้ ไม่เช่นนั้น คนก็จะมองภาพของ ส.ว. ในทางที่เป็นกลไกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ส.ว.ต้องคิดว่า จากจุดนี้จะวางบทบาทของตัวเองอย่างไร”

แคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ”

ด้วยเงื่อนไขใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญ อยู่ที่ ส.ว. ตรงนี้อาจารย์มีโปรแกรมเดินสายไปคุยกับ ส.ว.อย่างไรบ้างครับ ?

“ไปพบครับ แต่ซีเควนซ์ของเราคือ จะทยอยพบพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน ความจริงแผนทั้งหมด ผมจะเผยวันจันทร์ที่ 17 มกราคม (สัมภาษณ์วันที่ 13 มกราคม) คงทยอยพบสื่อด้วย และก็จะพบอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ในสังคม ให้ทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนรวมในการที่จะระดมให้ประชาชนเข้าชื่อให้ได้มากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้

"แล้วเดือนสุดท้ายของการรณรงค์ (ระยะเวลาของแคมเปญ 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 16 เมษายน) ก็คงจะไปพบ ส.ว. เพราะว่าการไปพบก่อน จะทำให้เขาไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า ประชาชนคิดอย่างไร สนับสนุนมากน้อยเพียงไร และการรับปากนานเกินไป ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะได้ของดี ดังนั้นก็เอาที่ใกล้ที่สุด ให้เขาได้เห็นข้อมูลว่า ณ เดือนสุดท้ายนี้ ผลตอบรับต่างๆ ความคิดเห็นของประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง

"แล้วจะทยอยไปพบ อาจไม่ได้ไปพบครบทุกคน เพราะ ส.ว.แต่ละคนอยู่คนละที่ เราอาจพบได้จำนวนหนึ่ง ที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็คือ 56 คนที่เคยลงชื่อ เราจะพยายามไปหาก่อน แล้วคนอื่นๆ ที่ผมรู้จักก็จะทยอยไปหา รวมทั้งคนที่เป็นประมุข ส.ว. ก็คือ ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน ก็ต้องไปหาด้วย

ที่อาจารย์มองว่า การดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีโอกาสสำเร็จ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว มี ส.ว.จำนวนไม่น้อย ที่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจตัวเองในการเลือกนายกฯ ?

"ใช่ครับ จากที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ เขาบอกต้องเลือก (นายกฯ) เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือก เขาก็ไม่อยากเลือกหรอก (หัวเราะ) แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องทำตามหน้าที่ ดังนั้นก็เป็นโอกาสแล้วแหละครับ หากท่านอยากแก้ไข ก็ต้องใช้โอกาสนี้เอาเรื่องนี้ออกจากตัวท่านไป"

แคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ”

หากแคมเปญนี้มีประชาชนร่วมลงชื่ออย่างล้นหลาม จะกลายเป็นแรงกดดันให้ ส.ว.ยอมตัดอำนาจตัวเอง แนวโน้มนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ครับ ?

“เราจะพยายามให้ประชาชนลงชื่อให้ได้มากที่สุด ส่วนจะเป็นแรงกดดันหรือไม่ ส.ว.จะฟังหรือไม่ฟัง อันนี้ก็เป็นวิจารณญาณของเขา เราคงไปคิดแทนเขาไม่ได้ ถึงแม้มีคนเป็นล้านร่วมลงชื่อ เขาก็อาจพูดได้ว่า แล้ว 16 ล้านเสียงของเขาล่ะ เขาก็พูดได้ทั้งนั้นแหละ มันมีโอกาสที่จะพูดอย่างไรก็ได้”

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่สามารถเป็นนายกฯ ต่อไปได้ ตรงนี้จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจตัดอำนาจตัวเองในการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. หรือไม่ ?

“ต้องมีคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน ตอนนี้ยังไม่มีคนยื่นเรื่อง ถ้าให้ผมประเมินในฐานะคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมานานพอสมควร ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านเขาจะไม่ยื่น เพราะการค้างคาให้เรื่องนี้เป็นประเด็นในการถกเถียง เป็นกระแสในสังคม มันเป็นผลลบกับรัฐบาลมากกว่า ถ้ารีบยื่นให้รีบตัดสิน เรื่องก็จะจบเร็ว

"ดังนั้นฝ่ายค้านที่มองเกมการเมืองอย่างลึกซึ้ง ผมเชื่อว่า เขาจะไม่ยื่น เขาจะให้เป็นประเด็นค้างคา เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม ซึ่งในการเลือกตั้งเนี่ย การค้างประเด็นดีกว่าการไม่ค้างประเด็น การค้างประเด็นจะสามารถนำมาใช้ในการโจมตีช่วงการหาเสียงได้ ว่าคุณจะเอา พล.อ.ประยุทธ์อีกหรือ หรือคุณจะเลือกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ ผมหาเสียงได้ง่ายกว่า ยิ่งถ้าอีกฝ่ายชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ผมสบายใจเลย

"ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐรู้อยู่แก่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ไม่ได้เป็นความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองที่อยู่ในพลังประชารัฐคิดอย่างนั้น แต่คุณประยุทธ์เองไม่คิด หรือคนใกล้ชิดคุณประยุทธ์ ก็ไม่คิด

"คุณประยุทธ์เอง หรือคนใกล้ชิดคุณประยุทธ์ คิดว่าตัวเองมีบารมี เป็นที่นิยมชื่นชอบ เป็นที่รักใคร่ของประชาชน ดังนั้นก็หวังที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ฝ่ายการเมืองเขารู้ ยิ่งนักการเมืองในพื้นที่รู้ว่า การชู พล.อ.ประยุทธ์ มันไม่ได้เป็นจุดแข็ง แต่มันเป็นจุดอ่อนที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดความเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ร.อ.ธรรมนัสจึงพยายามที่จะขอเปลี่ยน เอาคนใหม่ขึ้นมาชูเป็นนายกฯ

เหมือนแต่ละะฝ่ายก็ประเมินออก พรรคพลังประชารัฐก็ประเมินออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ประเมินตัวเองไม่ออก

"ใช่ๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นการยื่นญัตติที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ ผมว่าดีไม่ดีจะมาจากฝ่ายรัฐบาลเอง ที่อยากให้เรื่องมันจบ อยู่ได้ก็อยู่ ไม่เป็นประเด็นที่จะไปวุ่นวายกันภายหลัง หรือถ้าอยู่ไม่ได้ก็จบกันไป แล้วก็หาตัวแสดงใหม่ขึ้นมาแทน

แคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ”

ถ้าสิ่งที่อาจารย์รณรงค์ และสามารถเข้าสภาได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไป มันก็จะมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

มันจะกลับเข้าสู่หลักการที่ถูกต้องของประชาธิปไตย ก็คือ ส.ส.เป็นคนเลือกนายกฯ ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างนั้นในมาตรา 159 นายกฯ มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส. ในสภา แต่ไปเขียนในบทเฉพาะกาลว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ จึงเห็นสมควรให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายก (5 ปีแรก)  

แต่ถามว่าวันนี้เนี่ย มันเป็นประโยชน์ตามนั้นจริงหรือเปล่า คุณเลือกนายกฯ มาแล้วเกือบ 3 ปี ยุทธศาสตร์ชาติมันต่อเนื่องไหม มันทำให้การปฏิรูปประเทศเกิดความคืบหน้าไหม มันไม่เกิดเลย แล้วคุณยังจะคิดว่าจำเป็นต้องใช้อำนาจของคุณในการเลือกนายกฯ อีกหรือ ในเมื่อเหตุผลที่คุณกล่าวไว้ มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

สุดท้ายนี้ อาจารย์ต้องการกล่าวหรือฝากอะไรกับผู้อ่าน SpringNews หรือประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับ แคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ” บ้างครับ ?

"1 คน 1 เสียงจะมีความสำคัญในการร่วมเข้าชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ท่านที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศก็ตาม ท่านสามารถที่จะร่วมลงชื่อได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกนำไปใช้เป็นรายชื่อเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าท่านมีส่วนรวมในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

"หลายคนมองว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ ผมคิดว่าอยากเพิ่งไปมองจุดนั้น แต่เราต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขอย่างเต็มที่ก่อน อนาคตข้างหน้าเป็นอย่าไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทัศนคติที่ว่า มันยาก มันไม่สำเร็จ ก็อย่าไปทำเลย ถ้าคิดแบบนั้น มันก็เป็นการคิดแบบยอมจำนน คือไม่คิดต่อสู้ ไม่มีทางได้รับชัยชนะ

"ดังนั้น แม้โอกาสจะมีน้อย หรือยากแค่ไหนก็แล้วแต่ เราต้องมีจิตใจในการกล้าต้องสู้ กล้าเข้าไปเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ถ้าไม่สู้ ก็ไม่ชนะ ก็ขอฝากประชาชนทุกคนว่า ต้องสู้ แล้วเราจะได้รับชัยชนะในท้ายที่สุดครับ"

แคมเปญ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ” เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ

 

related