svasdssvasds

สมชัย ชำแหละ ไพบูลย์โมเดล จะส่งผลกระทบกับการเมืองไทยอย่างไร ?

สมชัย ชำแหละ ไพบูลย์โมเดล จะส่งผลกระทบกับการเมืองไทยอย่างไร ?

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา ม.รังสิต อดีต กกต. กรณีไพบูลย์โมเดล และผลกระทบที่จะตามมา

จากกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนย้ายมายังพรรคพลังประชารัฐ โดย 60 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพ ส.ส.ของไพบูลย์ ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่นั้น

โดยมติเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของไพบูลย์ ยังไม่สิ้นสุดลง สรุปก็คือ การกระทำดังกล่าวที่ถูกเรียกขานว่า ไพบูลย์โมเดล เป็นสิ่งที่สามารถทำได้

แล้ว ไพบูลย์โมเดล จะกลายเป็น ไพบูลย์เอฟเฟกต์ ที่ส่งผลกระทบกับการเมืองไทยอย่างไร ? SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา ม.รังสิต อดีต กกต. ถึงประเด็นดังกล่าว โดยอาจารย์ได้ชำแหละ ไพบูลย์โมเดล รวมถึงผลกระทบที่ตามมา ดังต่อไปนี้

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต.

"ไพบูลย์โมเดล" ถูกหลักนิติ แต่อาจขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องครอบคลุมทั้งในหลักนิติศาสตร์ (กฎหมาย) และหลักรัฐศาสตร์ ที่สำคัญก็คือ ต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

“ถ้าเราอ่านรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลฯ เราก็จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยึดตัวบทกฎหมาย โดยมี 2 ประเด็นหลักๆ ประเด็นที่ 1 คือ สามารถยุบพรรคได้ไหม ? ก็เป็นไปตาม พ.ร.ก.พรรคการเมืองที่ว่า ถ้ากรรมการบริหารมีการประชุมกัน แล้วเสียงข้างมากให้ยุบพรรค ก็สามารถยุบพรรคได้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่ 1 ก็ไม่ได้ขัดกับกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ส่วนประเด็นที่ 2 คือ คุณไพบูลย์ที่เป็นหัวหน้าพรรค และมีสถานะเป็น ส.ส.ของพรรคด้วย สามารถไปอยู่พรรคอื่นได้หรือไม่นั้น

"ตัวกฎหมายพรรคการเมืองก็จะบอกไว้ว่า ในกรณีซึ่งหากกรรมการบริหารพรรค มีมติยุบพรรค ให้เทียบเท่ากับการที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

"ถ้าเทียบเท่าหมายความว่า สมาชิกพรรคซึ่งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส) จะต้องไปหาพรรคการเมืองสังกัดให้ได้ภายใน 60 วัน จึงจะไม่พ้นสภาพการเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร 

“ซึ่งการยุบพรรคประชาชนปฏิรูป กกต.ประกาศเมื่อวันที่ 6  กันยายน 2562 คุณไพบูลย์ก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ได้ในวันที่ 9 กันยายน 2562 ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน ซึ่งก็อยู่ภายในระยะที่กำหนด (60 วัน) ทั้งหมดนี้ก็ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ ถ้าแปลตามตัวบทกฎหมาย

“แต่ในแง่ของการเป็นศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่สังคมมุ่งหวัง ก็คือการวินิจฉัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลที่ดีในทางการเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมา คำวินิจฉัยหลายๆ เรื่องในอดีต ศาลไม่ได้ดูเฉพาะตัวบทกฎหมาย แต่ดูเจตนาของผู้กระทำด้วย ว่าเขามีเจตนาอย่างไร แล้วก็ดูผลดีผลเสียต่อการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศด้วย

“ซึ่งในกรณีนี้ เราไม่ได้เห็นศาลใช้แง่มุมอื่นในการพิจารณา ใช้แต่แง่มุมทางนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่องค์ประกอบของศาล ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ ผู้ที่มีคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งก็คือ คนที่มีคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนาศาสตร์ เรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเราไม่เห็นการใช้แง่มุมในด้านรัฐศาสตร์เข้ามาช่วยในการพิจารณา

“ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ ในตัวรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 ได้ระบุว่า ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร (4 ปี) ห้ามควบรวมพรรค การควบรวมพรรคการเมืองจะกระทำไม่ได้

“การควบรวบพรรคการเมืองก็คือ การรวมพรรค 2 พรรค หรืออาจจะมากกว่า รวมเป็นพรรคเดียวกัน แล้วถ้าเราไปเปิดดูเจตนารมรณ์ ของการเขียนกฎหมายในมาตรานี้ ก็จะมีบันทึกเจตนารมณ์เขียนไว้ชัดเจนว่า มันเคยเกิดปัญหาในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีพรรคใหญ่ใช้อำนาจอิทธิพลการเงิน ซื้อพรรคเล็ก ทำให้ได้ ส.ส. มากขึ้น และทำให้ตัวเองได้ครอบครองเสียงข้างมากในสภา

“ดังนั้นเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเงินของพรรคใหญ่เข้าไปครอบงำพรรคเล็ก จึงมีการเขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามมีการควบรวมพรรค ตามระยะเวลาของสภาผู้แทนราษฎร คือ 4 ปีนี้ไม่สามารถทำได้

“ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเนี่ย (ไพบูลย์โมเดล) มันเป็นการควบรวมพรรคหรือไม่ ? ผมขอใช้คำว่า มันคล้าย มันไม่ใช่ แต่มันคล้าย เพราะการควบรวมพรรคมันหมายถึงการที่ต้องเอาทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ของ 2 พรรค มารวมกัน แต่นี่มาแต่ตัว คือมาแค่ ส.ส.หนึ่งคน แต่ก็ต้องมองว่า ส.ส. คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของพรรค อย่างอื่นเป็นเรื่องรอง

“มันก็เหมือนกับการเลี่ยงไม่ให้ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 แต่ว่าเขาใช้วิธียุบพรรคของตัวเอง เพื่อให้เหมือนกับว่าถูกต้องทางนิติศาสตร์ แต่ว่าในด้านรัฐศาสตร์ มันทำให้เกิดผลเสียหายค่อนข้างมาก”

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ไพบูลย์เอฟเฟกต์ ผลกระทบที่ตามมาจาก ไพบูลย์โมเดล

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ตามมาจาก “ไพบูลย์โมเดล” ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังต่อไปนี้

“ผมคิดว่าไพบูลย์โมเดล หรือไพบูลย์เอฟเฟกต์ ที่มันจะเกิดขึ้นเนี่ย จะมีทั้งผลในระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้นหมายความว่า จากนี้ไปอาจจะอยู่ในสมัยของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ การควบรวมพรรคในลักษณะของการยุบพรรค จะเกิดขึ้นอีกหลายพรรค

“ก็คือเมื่อกรรมการบริหารพรรคลงมติว่า ไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคการเมืองต่อไปได้ ประกาศยุบพรรคตัวเอง แล้วใช้กรอบ 60 วัน ในการที่จะไปหาพรรคการเมืองใหม่อยู่ ซึ่งเราก็จะเห็นว่า จะเกิดขึ้นกับพรรคขนาดเล็ก

“ซึ่งเขาเอง (พรรคเล็ก) ก็อาจะเห็นปัญหาที่อาจจะเกิดจากการเลือกตั้งคราวหน้า ว่ามันไม่ได้เป็นการออกแบบที่เอื้อต่อพรรคขนาดเล็กอีกแล้ว เขาก็ต้องหาพรรคใหญ่อยู่ ก็จะยุบพรรคตัวเอง ตอนนี้ที่เห็นแล้ว 2 พรรค แล้วก็จะมีอีกหลายพรรคตามมาด้วย นี่คือระยะสั้น

“ส่วนระยะยาวนั้น เป็นเรื่องของการออกแบบการเลือกตั้งของพรรการเมืองขนาดใหญ่ ที่เห็นช่องโหว่งของกฎหมายดังกล่าว ว่ามันสามารถแยกพรรคเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้ แล้วหลังจากที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ถ้าหากมีจังหวะเหมาะ ก็อาจจะยุบพรรค แล้วอาจรวมเป็นพรรคเดียวกันได้อีก

“ถามว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น เพราะว่าการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ประชาชนแต่ละคนมีวิจารณญาณในการเลือกพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ความนิยมชมชอบ ทัศนคติต่อบุคลากรภายในพรรค ต่อหัวหน้าพรรค ต่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ หรือแม้กระทั่งนโยบายต่างๆ ของพรรค ประชาชนจะคิดต่อพรรคต่างๆ ไม่เหมือนกัน

“ซึ่งเขาอาจจะไม่ชอบพรรคนี้ แต่ถ้าพรรคนี้มีการตั้งสาขาขึ้นมา แล้วไม่ให้ประชาชนรู้ว่านี่คือสาขา โดยการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอีกพรรคหนึ่ง มีผู้นำพรรคเป็นคนละคนกัน อาจมีนโยบายที่แตกต่างกัน หรืออาจมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน

“ประชาชนที่อาจไม่ชอบพรรคเดิม จึงเลือกพรรคใหม่ ซึ่งคิดว่าเป็นคนละพรรคกัน คนละแนวทางกัน แต่ท้ายสุดแล้ว มันคือพรรคเดียวกัน มันคือทุนเดียวกัน หลังจากนั้นพอได้เข้ามาในสภา ถ้าไม่ยุบก็เป็นพันธมิตรกัน แต่พอถึงจังหวะเวลา ก็ให้กรรมการบริหารพรรคยุบพรรค นี่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยในอนาคต 

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต.

ไพบูลย์โมเดล เกิดจากช่องโหว่งทางกฎหมาย ?

กรณีของไพบูลย์โมเดล ที่ทำให้เกิดการควบรวมพรรค ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพราะกฎหมายมีโหว่ง ? ซึ่ง รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้แสดงความคิดเห็นว่า...

“ในขณะนี้เราก็เห็นนักกฎหมายออกมาพูดทำนอง มันคือช่องโหว่งทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่ามันไม่ใช่น่ะ เป็นเรื่องของการตีความมากกว่า จะเขียนกฎหมายอย่างไรก็แล้วแต่ ฝ่ายที่เขาต้องการหาทางหลบหลีก เขาก็จะหลบหลีกได้ ดังนั้นหลักอยู่ที่การใช้กฎหมาย และผู้ที่วินิจฉัยมากกว่าว่า จะจับได้ไล่ทันพฤติกรรมของฝ่ายการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

“คือจากนี้ไประบบการเมืองไทย จะเป็นลักษณะที่พรรคใหญ่ได้เปรียบในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การคำนวณ ส.ส. แบบคู่ขนาน ได้เขตแล้ว ยังสามารถได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นความได้เปรียบของพรรคใหญ่ นี่คือส่วนที่ 1

“ส่วนที่ 2 ก็คือว่า เปิดโอกาสให้พรรคใหญ่ใช้อิทธิพลของเงิน เหนือพรรคเล็กได้ อาจจะเป็นนายทุนที่สนับสนุนพรรคเล็ก จากแหล่งเงินทุนเดียวกัน แต่ไม่ได้บอกให้ประชาชนรู้ เมื่อเข้าไปแล้วก็อยู่ฝ่ายเดียวกัน ซีกเดียวกัน และถ้ามีความจำเป็นก็ยุบพรรคได้อีก ก็จะเป็นหน้าตาของการเมืองไทยซึ่งเขาอ้างว่า เป็นแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งการเมืองไทยก็จะถอยหลังกลับไป”

การวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ กับคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

ด้วยบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ คือการวินิจฉัย เพื่อหาทางออกให้กับข้อขัดแย้งต่างๆ ฉะนั้นแล้วการทำหน้าที่ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า “มีความเป็นกลาง” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น และยุติปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

“ความจำเป็นที่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ เป็นความจำเป็นที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ที่ต้องมีองค์กรดูแลในเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ หรือให้คำวินิจฉัยสิ่งที่มีความเห็นต่าง ไม่ชัดเจน ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ

“เพียงแต่ว่าการที่จะกำหนดในคุณสมบัติของคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง กับกระบวนการสรรหาให้ได้มาซึ่งบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีความเป็นกลาง อันนี้ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ เพราะว่าจังหวะที่มันเกิดขึ้น มันเป็นจังหวะของการซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจ และใช้อำนาจของตัวเองในการที่จะทำให้กระบวนการสรรหาได้คนตามที่ตัวเองไว้วางใจ

“มันก็เลยทำให้กระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจต่างๆ เหล่านี้ ในสายตาประชาชนอาจรู้สึกว่า ไม่เป็นเหตุผลที่ดีเท่าที่ควร และเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า การตัดสินดังกล่าว เป็นการตัดสินที่อิงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่

“ซึ่งจริงๆ แล้ว อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ด้วยความที่เขา (ศาลรัฐธรรมนูญ) มาจากที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมีส่วนสรรหา คนก็เลยสงสัยในเบื้องต้นก่อนว่ากระบวนการตัดสินต่างๆ อาจจะเกิดการเอนเอียง

“ดังนั้นผมจึงคิดว่าในแง่ของสังคม ควรจะมีส่วนรวมในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยหลักเหตุและผล โดยหลักวิชาการ คืออย่าไปกังวลว่า เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ววิจารณ์ไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าถ้าเราวิจารณ์โดยใช้หลักวิชาการอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้กระบวนการตัดสิน มีความสมบูรณ์เกิดขึ้นในอนาคตได้ครับ”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต.

กติกาที่เป็นธรรม คือ หัวใจที่สำคัญ

สุดท้ายนี้ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ให้ข้อคิดว่า กติกาที่ไม่เป็นธรรม นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว อาจจะกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

“ต้องบอกว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องจับตาดู แล้วก็ช่วยกันระมัดระวังไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไปเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากว่ากติกามันเป็นธรรม กติกามันตรงไปตรงมา มันก็จะทำให้เกิดการแข่งขันที่ตรงไปตรงมา ที่มาจากความรู้ความสามารถ และการตัดสินใจเลือกของประชาชน

"แต่ถ้าหากมีการแก้กติกา แล้วกติกาดังกล่าว ไม่เป็นธรรม มันก็จะทำให้อยู่กันลำบากพอสมควร ก็ฝากประชาชนดูกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยครับ” 

related