svasdssvasds

ย้อนรอยพรรคเทพ พรรคมาร กับการผสมข้ามสายพันธุ์ ทางการเมือง

ย้อนรอยพรรคเทพ พรรคมาร กับการผสมข้ามสายพันธุ์ ทางการเมือง

ย้อนเหตุการณ์การเลือกตั้ง ปี 2535 /1 กำเนิดพรรคเทพ พรรคมาร ก่อนเลือนรางไปตามกาลเวลา เพราะการเมือง “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”

จริงหรือเปล่า ? ไม่รู้ หรืออาจเป็นแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ถึงแนวโน้ม "2 พรรคใหญ่ต่างขั้ว" ที่ห่ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนหลายคนคิดว่า เป็นไปได้ยากหรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย ที่จะตกล่องปล่องชิ้น พลิกมาจับมือกันร่วมจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งสมัยหน้า

แต่หากสำรวจร่องรอยต่างๆ ตั้งแต่ก่อนและระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ก็เห็นถึงแนวโน้มที่เกริ่นไว้ข้างต้นพอสมควร แต่อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้

ซึ่งหากจะว่าไปแล้วในแวดวงการเมืองที่ “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” อะไรก็เกิดขึ้นได้ และการผสมข้ามสายพันธุ์ทางการเมืองก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งถ้าเอ่ยถึงการแบ่งขั้วที่โด่งดังที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ก็ต้องยกให้ "หลังการเลือกตั้ง ปี 2535" ที่มีการแบ่งข้างกันเป็นพรรคเทพ พรรคมาร ก่อนเลือนรางไปตามกาลเวลา

ความพยายามสืบทอดอำนาจ หลังรัฐประหารปี 2534

หากจะกล่าวถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองในครั้งดังกล่าว ก็ต้องย้อนไปถึงความเป็นมา ตั้งแต่ "การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช." ในปี 2534 ที่โค่นล้มรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีแกนนำสำคัญประกอบด้วย

1. พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะ

2. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าคณะ

3. พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะ

4. พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะ

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ

หลังรัฐประหารสำเร็จ คณะ รสช. ก็ส่งเทียบเชิญให้ "นายอานันท์ ปันยารชุน" เป็นนายกฯ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ผลปรากฏว่า "พรรคสามัคคีธรรม" ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นพรรคที่ก่อตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ รสช. ได้ ส.ส. มากที่สุด จำนวน 79 คน  จึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วย 5 พรรคดังนี้

1. พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง)

2. พรรคชาติไทย (74 เสียง)

3. พรรคกิจสังคม (31 เสียง)

4. พรรคประชากรไทย (7 เสียง)

5. พรรคราษฎร (4 เสียง)

รัฐประหาร 2557

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุจินดา ขึ้นเป็นนายกฯ อ้าง “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

ก่อนการเลือกตั้ง "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่มีแผนในการสืบทอดอำนาจ และยืนยันว่า ตนเองจะไม่เป็นนายกฯ อย่างเด็ดขาด"

ซึ่งเมื่อผลเลือกตั้งออกมาว่า พรรคที่ รสช. สนับสนุน ได้คะแนนเสียงมากที่สุด "นายณรงค์ วงศ์วรรณ" ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ก็กลายเป็นว่าที่นายกฯ คนต่อไป

แต่แล้วก็มีข่าวออกมาว่า สหรัฐฯ เคยปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้กับนายณรงค์ เนื่องจากสงสัยว่า พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด และต่อมามีการยืนยันจาก "นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (ในเวลานั้น) ว่านายณรงค์ถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเสนอชื่อ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" เป็นนายกฯ ซึ่ง พล.อ.สุจินดา ก็ได้แถลงทั้งน้ำตาว่า "จำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ รับตำแหน่งนายกฯ" ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้น เพราะการรับตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.สุจินดา คือการแสดงให้เห็นถึงความต้องการสืบทอดอำนาจขอ รสช.

พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ

3. แบ่งขั้ว พรรคเทพ พรรคมาร

และจากการที่มีพรรคการเมืองส่วนหนึ่ง ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. อย่างชัดเจน มีทั้งหมด 4 พรรค  พรรคประกอบด้วย

1. พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง)

2. พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง)

3. พรรคพลังธรรม (41 เสียง)

4. พรรคเอกภาพ (6 เสียง)

ทำให้ทั้ง 4 พรรคได้รับการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่า พรรคเทพ ส่วน 5 พรรคที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดาเป็นนายกฯ ก็ได้รับการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่า “พรรคมาร” ประกอบด้วย 5 พรรค ดังนี้

1. พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง)

2. พรรคชาติไทย (74 เสียง)

3. พรรคกิจสังคม (31 เสียง)

4. พรรคประชากรไทย (7 เสียง)

5. พรรคราษฎร (4 เสียง)

พฤษภาทมิฬ

การรับตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.สุจินดา นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และมีพรรคเทพทั้งสี่ ร่วมคัดค้าน โดยมี 2 ข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ

1. ให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

2. ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

การชุมนุมประท้วงเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2535 หน้ารัฐสภา แบบปักหลักยาวนาน ก่อนเคลื่อนขบวนมาที่ท้องสนามหลวง โดยในวันนที่ 17 พฤษภาคม กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวง เพื่อไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดและเกิดการปะทะกัน และเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 18 พฤษภาคม จับกุมแกนนำคนสำคัญ รวมถึง "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" และผู้ชุมนุมจำนวนมาก

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้เสียชีวิต 44 ราย และบาดเจ็บ 1,728 คน เป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมือง โดย พล.อ.สุจินดา ได้ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในที่สุด

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

รัฐบาลอานันท์ 2

หลังจาก พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 5 พรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกตั้งฉายาว่า “พรรคมาร” ก็ได้เสนอชื่อ "พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์" หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกฯ

แต่ "นายอาทิตย์ อุไรรัตน์" รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อ "นายอานันท์ ปันยารชุน" ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลดอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมือง นายอานันนท์ เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อีกวาระ ก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 13 กันยายน 2535

ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ

พรรคเทพ พรรคมาร เลือนหายไปตามกาลเวลา  

การเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 1 และได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรคเทพ + 1 พรรคมาร ประกอบดัวย พรรคประชาธิปัตย์ , พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง) , พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ และอีกหนึ่ง “พรรคมาร” เดิม นั่นก็คือ พรรคกิจสังคม

"นายชวน หลีกภัย" นายกฯ ณ วันนั้น ได้ประกาศยุบสภาในปี 2538 การเลือกตั้งครั้งต่อมาปรากฏว่า "พรรคคชาติไทย" หนึ่งในพรรคมาร จากการตั้งฉายาของสื่อมวลชน เมื่อปี 2535 ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ "นายบรรหาร ศิลปะอาชา" หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกฯ   

โดยในเวลานั้นความเป็น “พรรคเทพ พรรคมาร” ได้เลือนหายไปสิ้นตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา  รัฐบาลชุดดังกล่าวจึงมีการผสมปนเปกันไป ทั้งฝั่งเทพฝั่งมาร โดยมีพรรคความหวังใหม่  และพรรคพลังธรรม อดีตพรรคเทพ เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ “การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” แม้วันนี้จะอยู่กันคนละข้าง ห่ำหั่นกันแทบเป็นแทบตาย แต่วันข้างหน้าอาจอินเลิฟกลายเป็นพวกเดียวกัน แบบทำเอาประชาชนงงงันกันทั้งประเทศ

รัฐสภา     

ที่มา

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535

พฤษภาทมิฬ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535

คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 51

 

related