Springnews ย้อนรอยเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540ที่สร้างหายนะให้กับเศรษฐกิจไทย จน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในเวลา ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
จากวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ก็คือ การบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ และไร้วิสัยทัศน์ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะระบบการรักษา ที่พินาศป่นปี้ จนมีคนไทยต้องเสียชีวิตคาบ้านไปแล้วหลายราย
ระบบการตรวจโควิด-19 ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นนโยบายว่าตรวจฟรี แต่ในความเป็นจริงกลับตรวจได้อย่างยากลำบาก และมีคนจำนวนมากต้องเสียเงินหลักพัน เพื่อให้เข้าถึงการตรวจ
การจัดการวัคซีนที่ล่าช้า มีเงื่อนงำ และไม่โปร่งใส โดยเฉพาะกับข้อสงสัยที่ว่าทำไมตะบี้ตะบันสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาอย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพด้อยกว่ายี่ห้ออื่นๆ ราคาก็แพง และอาจป้องกันสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้
รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ไม่สามารถอดรนทนต่อไปได้อีก และคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนม้ากลางศึก ! จึงเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยที่ผ่านๆ มา หากเกิดวิกฤตขึ้นจนยากที่รัฐบาลจะไปต่อ ส่วนใหญ่นายกฯ จะใช้วิธียุบสภา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่สำหรับนายกฯ ที่ตัดสินใจลาออก ก็มีเช่นกัน นั่นก็คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ยอมลงจากตำแหน่ง หลังบริหารประเทศผิดพลาดในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายอย่างยับเยิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยสร้างไทย กับสมาคมทนายฯ เตรียมฟ้องบิ๊กตู่ ซื้อซิโนแวค แก้โควิดล้มเหลว
1. วิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หากจะว่าไปแล้ววิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน และสั่งสมปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋ว ขึ้นมาเป็นนายกฯ
และจากการสรุปบทเรียน หลายสำนักก็วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า นโยบาย BIBF (Bangkok International Banking Facilities) คือปฐมเหตุแห่งวิกฤตต้มยำกุ้ง
BIBF เป็นนโยบายด้านการเงินที่ได้รับการอนุมัติในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ในปี 2535 แต่เริ่มดำเนินการในรัฐบาลชวน 1 เมื่อปี 2536
ซึ่งหลักการสำคัญของนโยบายนี้ก็คือ การเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เงินไหลเข้าไหลออกประเทศได้คล่องขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีความเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค
2. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศต่ำ ในขณะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศสูง
ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ต่ำกว่าในไทยเป็นอย่างมาก โดยดอกเบี้ยเงินกู้ในไทยช่วงเวลานั้นอยู่ที่ 14 – 17 % ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของต่างประเทศ อยู่ที่ 5 % ต่อปี อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของไทย ยังเป็นแบบคงที่ 25 บาท เท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ
เมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้สถาบันการเงินไทย แห่กู้เงินจากต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นการกู้ระยะสั้น 5 ปี กู้มาแล้ว จึงต้องรีบนำปล่อยกู้ต่อ เพื่อกินส่วนต่างกว่า 10 % ทำให้เกิดความหละหลวมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เป็นที่มาของหนี้เน่าจำนวนมหาศาลในเวลาต่อมา
3. การโจมตีค่าเงินบาท
อันที่จริง นโยบาย BIBF ถือว่าเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และไทยยังดำเนินนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ผิดพลาดในเวลานั้นก็คือ เมื่อมีการเปิดเสรีทางเงิน แต่ไทยยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ 25 บาท เท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ตั้งแต่สมัยชวน 1 มาถึงยุคบรรหาร กระทั่งยุคบิ๊กจิ๋ว
ที่สำคัญก็คือ เปิดเสรีทางการเงิน แต่กลับไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับต่างประเทศ จนกลายเป็นช่องโหว่งให้เกิดการเก็งกำไร ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันกว่า 10 % ส่งผลให้ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศมหาศาลภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
และเมื่อ จอร์ส โซรอส พ่อมดการเงิน มองเห็นจุดอ่อนดังกล่าว ก็เปิดศึกกระหน่ำโจมตีค่าเงินบาทไทยอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2539
4. สงครามค่าเงินบาท ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับจอร์ส โซรอส
สาเหตุที่กองทุนของจอร์ส โซรอส เข้าโจมตีค่าเงินบาทไทย ก็มาจากการคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2536 ไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้ระยะสั้น 5 ปี และใกล้ถึงเวลาชำระคืนในเร็วๆ นี้ ซึ่งต้องชำระด้วยเงินดอลล่าร์ จึงมีแนวโน้มว่า จะมีการนำเงินบาท มาแลกเปลี่ยนเป็นดอลล่าร์ในจำนวนมหาศาล
ประกอบกับช่วงเวลานั้น ส่อเค้าฟองสบู่ทางเศรษฐกิจไทยใกล้แตก นักลงทุนต่างชาติทยอยขนเงินกลับ อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ จึงสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง !
จอร์ส โซรอส จึงนำเงินบาทที่ตุนไว้ มาแลกเงินดอลล่าร์ ในอัตรา 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ก่อนนำเงินดอลล่าร์ ไปขายเป็นเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ตามมูลค่าที่แท้จริง แล้วก็ทำกำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น อย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
4.1 อัตราค่าเงินคงที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ
25 ล้านบาท เท่ากับ 1 ล้านดอลล่าร์
50 ล้านบาท เท่ากับ 2 ล้านดอลล่าร์
100 ล้านบาท เท่ากับ 4 ล้านดอลล่าร์
4.2 มูลค่าที่แท้จริงของเงินบาทไทย ที่มีการซื้อในต่างประเทศ ในปี 39 - 40
30 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ (สมมติมูลค่า)
30 ล้านบาท เท่ากับ 1 ล้านดอลล่าร์
60 ล้านบาท เท่ากับ 2 ล้านดอลล่าร์
120 ล้านบาท เท่ากับ 4 ล้านดอลลล่าร์
ซึ่งในกรณีมูลค่าที่แท้จริงของเงินบาทในตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ 30 บาท ก็เท่ากับว่า ในทุก 1 ร้อยล้านบาท กองทุนของโซรอส จะฟันกำไรสูงถึง 20 ล้านบาท โดยโซรอสตั้งเป้าว่า จะโจมตีค่าเงินบาทไทย ให้ร่วงไปถึง 50 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ และก็ทำสำเร็จในเวลาต่อมา
5. ธนาคารแห่งประเทศไทย ชักธงรบ
จากการโจมตีค่าเงินบาทอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ลดลงไปเรื่อยๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องนำเงินดอลล่าร์ที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ มาซื้อเงินบาทคืน เพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไว้
สมมติว่า มูลค่าที่แท้จริงในตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ 30 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ไทยก็ต้องระดมเงินดอลล่าร์ไปกวาดซื้อคืน แต่ขายออกไปได้แค่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ซื้อมา 30 บาท แต่ต้องขาย 25 บาท (เพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยน)
เท่านี้ก็เห็นหายนะอยู่ร่ำไร แต่ไทยก็ยังฝืนสู้ และสู้กระทั่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบเกลี้ยง จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องยอมแพ้ไปในที่สุด
6. ลอยตัวค่าเงินบาท
ช่วงที่กองทุนของจอร์ส โซรอส กำลังโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ก็มีการประเมินกันว่า ไทยจำเป็นต้องลดค่าเงินบาทในเวลาอันใกล้
ซึ่งหากค่อยๆ ประกาศลดค่าเงินบาทที่ละสเต็ป เพื่อประคองสถานการณ์ ก่อนลอยตัวค่าเงินบาท นักวิเคราะห์หลายสำนักก็ประเมินว่า น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า และไทยอาจไม่เจ็บหนักนัก
แต่แล้ววันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พล.อ.ชวลิต ก็ตัดสินใจทำตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย คือประกาศเปรี้ยง ลอยตัวค่าเงินบาท ทำเอาช็อกกันทั้งประเทศ ค่าเงินบาทตกกราวรูด และเคยดิ่งหนักถึง 56 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ในเวลาอันรวดเร็ว
ส่งผลให้สถาบันการเงิน และธุรกิจที่กู้เงินจากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล เพราะเท่ากับว่ามีหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว กิจการมากมายต้องปิดตัวลง เป็นช่วงเวลาแห่งหายนะทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
7. เกิดกระแสเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก
จากความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงเกิดกระแสเรียกร้องให้บิ๊กจิ๋วลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ดังกระหึ่มและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดบิ๊กจิ๋วก็ไม่อาจต้านทานได้ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540
อ้างอิง
6 พ.ย. 2540 ต้มยำกุ้งเป็นพิษ บิ๊กจิ๋วประกาศลาออกจากนายกฯ
20 ปีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ
วิกฤตต้มยำกุ้ง 2 ก.ค. 2540 : ใครเป็นใครใน 5 ตัวละครเอกของวิกฤตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย