"กระทรวงการคลัง" ที่ใช้ "วายุภักษ์" ปักษาในตำนานเป็นตราสัญลักษณ์ กับ "กองทุนวายุภักษ์" มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
จากกรณีที่กระทรวงการคลัง ขายหุ้น 3.17 % ของการบินไทย ให้กับกองทุนวายุภักษ์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบินไทยสิ้นสุดสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้น (ผ่านกระทรวงการคลัง) ไม่เกิน 50 %
หลังจากขายหุ้นแล้ว กระทรวงการคลังก็จะเหลือสัดส่วนหุ้นในการบินไทย 48.13 % จากเดิมที่ถือครองอยู่ 51.03 %
ซึ่งจากชื่อของกองทุนนั่นก็คือ “วายุภักษ์” ปักษาในตำนานที่กระทรวงการคลังใช้เป็นตราสัญลักษณ์ ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า กระทรวงการคลังกับกองทุนวายุภักษ์นั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
แต่ก่อนจะไปถึงที่มาของกองทุนนี้ เราลองมาทำความรู้จักนกในตำนานที่ได้รับการขนานนามว่า “วายุภักษ์ปักษา” กันซะหน่อย
วายุภักษ์ปักษา
วายุภักษ์ หรือนกการเวก เป็นนกในตำนาน อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ บินได้สูงเหนือเมฆ มีเสียงที่ไพเราะกังวาน และเป็นอมตะ อีกทั้งขนนั้นยังกลายเป็นทองคำได้อีกด้วย
โดยกระทรวงการคลัง ใช้วายุภักษ์ เป็นตราสัญลักษณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และใช้ตราสัญลักษณ์นี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
กองทุนวายุภักษ์ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ
กองทุนวายุภักษ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 สมัยที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดจากแนวคิดและข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยหลักการและเหตุผล ในการจัดตั้งกองทุน มีดังนี้
1. เพื่อปรับปรุงระบบและแนวทางการลงทุนของกระทรวงการคลังให้เกิดประสิทธิภาพเเละสอดคล้องกับการพัฒนาการเศรษฐกิจ การออม และการลงทุนของประเทศ
ซึ่งจากเดิมที่เป็นการลงทุนของรัฐ โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การกู้เงิน หรือการมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐลงทุนแทน ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมาย และขาดความคล่องตัวในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐแทนกระทรวงการคลังโดยตรง
3. เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และมีสภาพคล่องล้นระบบ ซึ่งสอคคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการออมและการลงทุนผ่านตลาดทุนของประเทศ
ผู้จัดการกองทุน
ข้อมูลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ซึ่งในข้อที่ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน ได้ระบุว่า "กระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นผู้จัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 ...
"ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน บริษัททั้งสองได้ตกลงแบ่งการจัดการทรัพย์สินของกองทุน บริษัทละเท่าๆ กัน"
กองทุนวายุภักษ์จึงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ 2 องค์กร คือ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
5 อันดับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย ก่อนกระทรวงการคลัง ขายหุ้นให้วายุภักษ์ 3 %
จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นของการบินไทย ก่อนที่จะขายหุ้น 3 % ให้กองทุนวายุภักษ์ พบว่า มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีดังนี้
อันดับ 1 กระทรวงการคลัง มีสัดส่วนการครองหุ้น 51.03 %
อันดับ 2 กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่งโดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนการครองหุ้น 7.56 %
อันดับ 3 กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนการครองหุ้น 7.56 %
อันดับ 4 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีสัดส่วนการครองหุ้น 3.28 %
อันดับ 5 ธนาคารออมสิน มีสัดส่วนการครองหุ้น 2.13 %
เท่ากับว่า ก่อนที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้นให้นั้น กองทุนวายุภักษ์ ทั้งในส่วนของ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีหุ้นรวมกันในการบินไทย 15.12 %
และเมื่อกระทรวงการคลังขายหุ้นให้ 3 % กองทุนวายุภักษ์ก็มีสัดส่วนหุ้นการบินไทยรวมกัน 18.29 %
กองทุนวายุภักษ์ เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ?
จากการที่กองทุนวายุภักษ์ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 2 องค์กร โดยหนึ่งในนั้น คือ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี บมจ. ธนาคารกรุงไทย ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นถึง 99.99 % ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า อ้าว แล้วอย่างนี้ กองทุนวายุภักษ์ ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่ ?
ซึ่ง “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” ของกองทุนวายุภักษ์ ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากบริษัทที่จัดการ
“ดังนั้นผลการดำเนินงานของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จึงไม่ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)”
สรุปก็คือ กองทุนวายุภักษ์ ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
มายากลคนกันเอง ?
ถึงแม้ในทางกฎหมาย จะระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า กองทุนวายุภักษ์ มีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้นเมื่อกระทรวงการคลัง ขายหุ้นการบินไทย 3 % ให้กับวายุภักษ์ การบินไทยก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป
แต่ นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol แสดงความเห็นว่า
"ด่วน การบินไทยโดยนิตินัย หมดสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายแล้ว
“แต่โดยพฤตินัยรัฐยังคงถือหุ้นเท่าเดิม คือเกินครึ่ง เห็นหรือยังครับ ? กฎหมายนั้นก็มีมายาภาพ และมายากลลักษณะนี้อยู่
“โดยผลก็คือ นับแต่นี้ไปกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะใช้กับการบินไทยไม่ได้ !!
“แต่ในขณะเดียวกัน การบินไทยก็ยังอยู่ในอำนาจของนักการเมือง และทุนเหนือการเมืองอยู่นั่นเอง
“วันนี้ได้เห็นชื่อนักกฎหมายระดับเกจิอาจารย์ใหญ่ ที่จะเป็นผู้ได้งานที่ปรึกษากฎหมายแล้วทำแผนฟื้นฟูตัวจริง ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร ก็คนกันเองล่ะครับ”
ส่วน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ก็ได้แสดงความคิดเห็น ผ่านเฟซบุ๊ก Pipat Luengnaruemitchai ว่า
“พอได้ยินข่าวนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า 1. กองทุนวายุภักษ์ ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วย (แม้ว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหน่วยทั้งหมดก็ตาม) ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพอย่างไร ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นการบินไทย เมื่อการบินไทยที่มีความเสี่ยงในการถูกลดทุนในกระบวนการฟื้นฟู
“2. ถ้าผู้ถือหน่วยส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด ซึ่งก็คือกระทรวงการคลัง เป็นผู้สั่งให้กองทุนเข้าซื้อหุ้น ก็ต้องถือว่าเป็นธุรกรรมซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายคือคนเดียวกัน จะถือว่าเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังได้จริงหรือ เพราะคลังยังถือหุ้นทางอ้อม และยังมีอำนาจควบคุมในการตัดสินใจของกองทุน
“ส่วนจะหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นี่ คงเป็นประเด็นตีความด้านกฎหมาย”
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งถึงแม้ว่า การซื้อหุ้นจากกระทรวงการคลัง 3 % จะแก้ปัญหาเรื่องการทำให้การบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจได้
แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาคาใจของหลายคนที่ว่า การบินไทยจะปลอดจากการเมืองได้จริงหรือ ?
อ้างอิง
'การบินไทย' พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว หลัง 'คลัง' ขายหุ้นให้วายุภักษ์วันนี้
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ธันวาคม 2546
ผู้ถือหุ้น บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้ถือหุ้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)
Facebook : Pipat Luengnaruemitchai
Faceboook : Paisal Puechmongkol
หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการ กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง
หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ