SHORT CUT
ทัวร์อวกาศผู้หญิงล้วนเที่ยวบินแรกของโลกโดย Blue Origin ประสบความสำเร็จ ลูกเรือหญิงล้วน 6 ชีวิตเดินทางข้าม “เส้นคาร์มัน” (Kármán line) ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกราว 100 กม.
ยานนิวเชพเพิร์ด (New Shepard) ของบริษัท บลู ออริจิน ประสบความสำเร็จในการพาลูกเรือหญิงล้วน 6 ชีวิตเดินทางข้าม “เส้นคาร์มัน” (Kármán line) ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกราว 100 กม. จุดเริ่มต้นของอวกาศชั้นนอก ก่อนกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยภายในเวลาเพียง 11 นาที
หนึ่งในผู้ร่วมภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้คือ เคที เพร์รี นักร้องชื่อดังระดับโลก ร่วมกับลูกเรืออีก 5 คน ได้แก่ เกย์ล คิง ผู้สื่อข่าวคนดัง อแมนดา เหงียน นักชีววิทยาอวกาศ ไอชา โบว์ อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และซีอีโอบริษัท STEMBoard
เครีแอนน์ ฟลินน์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ลอเรน ซานเชซ รองประธานกองทุน Bezos Earth Fund และคู่หมั้นของเจฟฟ์ เบซอส
ยานนิวเชพเพิร์ด (New Shepard) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยด้วยพลังมหาศาล ใช้เวลาเพียงไม่นานในการนำพาสตรีทั้งหกข้ามเส้นแบ่งเขต ณ ความสูง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก สู่สภาพแวดล้อมที่ไร้แรงโน้มถ่วง ก่อนที่ส่วนขับเคลื่อนจะแยกตัวและกลับสู่พื้นดินอย่างแม่นยำ ขณะที่แคปซูลโดยสารยังคงล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศช่วงเวลาสั้นๆ ราวกับการหยุดเวลา เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับทัศนียภาพอันงดงามและเงียบสงัด ก่อนจะค่อยๆ ร่อนลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยด้วยร่มชูชีพ
หลังภารกิจสิ้นสุด ลูกเรือทั้งหมดแสดงความตื้นตันกับประสบการณ์อันน่าจดจำ โดย ลอเรน ซานเชซ เป็นผู้โดยสารคนแรกที่ออกจากแคปซูล พร้อมกล่าวว่า
“ฉันมองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วเราก็เป็นดวงจันทร์ โลกดูเงียบเหลือเกิน มันเงียบแต่มันมีชีวิตจริงๆ”
เกย์ล คิง ก้มลงจูบพื้นดินและบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “มันเงียบแปลก ๆ เมื่อคุณขึ้นไปอยู่บนนั้น ยิ่งเมื่อคุณมองลงไปยังโลกแล้วคิดว่า นี่คือที่ที่เราจากมา... สำหรับฉัน มันเป็นสิ่งย้ำเตือนว่า ทำไมเราต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ”
อแมนดา เหงียน กล่าวขอบคุณทุกคนที่ทำให้ภารกิจเป็นจริง ขณะที่ ไอชา โบว์ ยอมรับว่าเธอคง “ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป” พร้อมเสริมว่า “มันไม่มีขอบเขต ไม่มีชายแดน มันมีแค่โลก”
ด้าน เคที เพอร์รี เผยว่า รู้สึกเชื่อมโยงกับชีวิตมากขึ้นหลังกลับสู่โลก และเธอยืนยันว่าจะกลับมาแต่งเพลงที่เกี่ยวกับประสบการณ์อันล้ำค่าครั้งนี้ แน่นอน 100 %
ภารกิจนี้มีรหัสว่า NS-31 นับเป็นเที่ยวบินที่ 11 ของ “นิว เชพาร์ด” ที่พามนุษย์ข้ามเส้นคาร์มัน โดยจรวดถูกออกแบบมาเพื่อการโดยสารมนุษย์โดยเฉพาะ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% และควบคุมการบินแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แคปซูลบนยอดจรวดรองรับผู้โดยสารได้ 6 คน แต่ละที่นั่งมีหน้าต่างและเก้าอี้ส่วนตัว เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสวิวอวกาศอย่างเต็มอิ่ม
ที่มา : bbc