SHORT CUT
ยาน Blue Ghost ของเอกชนสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ใกล้ปล่องภูเขาไฟโบราณ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 มี.ค. 2568) เวลา 15.35 น. ตามเวลาในประเทศไทย
บริษัท Firefly Aerospace ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการอวกาศ เมื่อยานสำรวจ Blue Ghost ของพวกเขาประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 มี.ค. 2568) ความสำเร็จนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ยืนยันถึงศักยภาพของภาคเอกชนในการสำรวจอวกาศ ซึ่งเดิมเคยเป็นภารกิจของหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น
ยาน Blue Ghost ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับรถยนต์ทั่วไป ถูกติดตั้งด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จำนวน 10 ชิ้น โดยได้ลงจอดอย่างเรียบร้อยเมื่อเวลา 15.35 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริเวณใกล้ปล่องภูเขาไฟโบราณในพื้นที่ Mare Crisium หรือ "ทะเลแห่งวิกฤติ" ซึ่งเป็นแอ่งขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของด้านที่หันเข้าหาโลก ซึ่ง Firefly Aerospace กลายเป็นบริษัทเอกชนรายที่สองที่สามารถนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ยาน Blue Ghost ใช้เส้นทางโคจรรอบโลกถึงสามครั้ง รวมระยะทางประมาณ 2.8 ล้านไมล์ ก่อนจะถึงดวงจันทร์ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 238,000 ไมล์ ยานใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่งหลังจากถูกปล่อยโดยจรวด SpaceX จากศูนย์อวกาศเคนเนดี้
ภายในระยะเวลา 14 วัน ของภารกิจ Blue Ghost จะใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ 3 แผง ในการจ่ายไฟให้แก่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งอยู่บนยาน เพื่อนำข้อมูลสำคัญกลับมายังโลก ก่อนที่ดวงจันทร์จะเข้าสู่ช่วงกลางคืนซึ่งมีอุณหภูมิลดต่ำถึง -173 องศาเซลเซียส
โดยก่อนหน้านี้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดยานบนดวงจันทร์แบบนุ่มนวล ได้แก่ สหภาพโซเวียต สหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น
ภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Commercial Lunar Payload Services (CLPS) ของ NASA มูลค่า 101 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นตลาดการสำรวจดวงจันทร์ของภาคเอกชน และลดต้นทุนการเข้าถึงดวงจันทร์
ความสำเร็จของ Firefly Aerospace เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันการสำรวจอวกาศที่ทวีความเข้มข้น ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างมีแผนส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ อินเดียและญี่ปุ่น ก็กำลังเร่งพัฒนาโครงการสำรวจดวงจันทร์ของตัวเอง
การเดินทางของ Blue Ghost ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในการสำรวจอวกาศที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รัฐบาลอีกต่อไป แต่เป็นสนามแข่งขันของ บริษัทเอกชน ที่กำลังจะเปลี่ยนอนาคตของการสำรวจอวกาศ
ที่มา