SHORT CUT
ดังไกลระดับโลก! CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย "เหงื่อ" จากรักแร้เพียง 15 นาที สามารถตรวจพบสารเคมีที่บ่งชี้ภาวะเครียดได้อย่างแม่นยำสูง
เมื่อย้อนไปในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากทั้งภายในจุฬาฯ และภาคเอกชน ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ จนถึงขั้นลงพื้นที่ไปตรวจคัดกรองให้ชุมชน ตลาด และโรงเรียนบางแห่งในกรุงเทพมหานครได้ มาในครั้งนี้ ดร.ชฎิล ต่อยอดงานวิจัยและร่วมมือกับแพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร
นวัตกรรมการแพทย์ครั้งสำคัญของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เมื่อ CNN สื่อให้ความสนใจสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ชฎิล กุลสิงห์ และ อาจารย์ ดร.แพทย์หญิง ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ตรวจวัดความเครียดจากสารเคมีในเหงื่อ ร่วมกับ อาจารย์ ดร.นายแพทย์ชาวิท ตันวีระชัยสกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิระ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายวิจัย และ Professor Michael Maes จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ณัฐนี ตั้งกิจอนันต์สิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นวัตกรรมนี้ใช้เพียงก้านสำลีเก็บตัวอย่างเหงื่อจากรักแร้ 15 นาที สามารถตรวจพบสารเคมีที่บ่งชี้ภาวะเครียดได้อย่างแม่นยำสูง แก้ปัญหาการคัดกรองแบบเดิมที่ต้องพึ่งการสังเกตพฤติกรรมและการประเมินจากจิตแพทย์ อีกทั้ง บริการทางจิตแพทย์ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทีมวิจัยได้ทดสอบกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 1,000 นาย จาก 48 สถานีในกรุงเทพฯ และพยาบาลกว่า 1,000 คนจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ
การที่ CNN ให้ความสนใจครั้งนี้ สะท้อนศักยภาพของนักวิจัยไทยในเวทีโลก และความสำคัญของการค้นพบที่จะยกระดับการดูแลสุขภาพจิตของประชากรโลก โดยเฉพาะในยุคที่ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการแพทย์ไทยที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก
“ปกติการคัดกรองสุขภาพจิตไม่เพียงพอ และการที่ทุกคนจะเข้าถึงและพบจิตแพทย์ก็ยากเนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในประเทศไทย นอกจากนี้ แนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ยังขึ้นกับดุลยพินิจของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจแตกต่างกันและไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำ เราจึงพยายามหาวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตก่อนพบจิตแพทย์ ซึ่งเราพบว่าวิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อเป็นวิธีที่น่าสนใจ เพราะเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว และสามารถวัดผลจากสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ มีความคลาดเคลื่อนน้อย” อ.ดร.พญ.ภัทราวลัย กล่าว