svasdssvasds

ทำไมญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แผ่นดินไหวแต่ละที มีเหงื่อตก!

ทำไมญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  แผ่นดินไหวแต่ละที มีเหงื่อตก!

แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นล่าสุด แม้ไม่สร้างความเสียหายแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่อย่างใด ทว่า ชาวญี่ปุ่นยังคงเป็นกังวลว่าจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามได้ที่บทความนี้

แม้ว่าจะเป็นเคราะห์ดีที่แผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดๆที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น 

ประมวลภาพแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น Cr. Reuters

ประมวลภาพแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น Cr. Reuters

ทว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ทางการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิตามมา ซึ่งนั่นสร้างความหวั่นเกรงและความทรงจำอันเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะหวนย้อนกลับมาอีกครั้ง

ในจังหวัดอิชิคาวะ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงที่สุด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชิกะ ของบริษัทโอคุริคุอิเล็กทริกพาวเวอร์ พบปัญหาบางส่วนของระบบไฟฟ้าหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่ยืนยันว่า ไม่มีความผิดปกติใหญ่ๆ และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 และหมายเลข 2 ก็ปิดทำการหลังเกิดแผ่นดินไหว

ประมวลภาพแผ่นดินไหวที่จังหวัด Ishikawa ประเทศญี่ปุ่น Cr. Reuters

ด้านรายงานระบุว่า คนงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชิกะ ได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงระเบิด และเริ่มได้กลิ่นอะไรบางอย่างใหม่ ใกล้ๆกับหม้อแปลงที่รับไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 เจ้าหน้าที่ได้เช็ตพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พบว่าระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน แต่ไม่พบว่ามีไฟเกิดขึ้น แต่ระบบไฟฟ้าของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวดังกล่าวเสียหายเป็นบางส่วน

เจ้าหน้าที่เชื่อว่า แรงดันภายในหม้อแปลงเพิ่มขึ้น เนื่องจากแผ่นดินไหว ซึ่งแรงดันดังกล่าวทำให้เกิดเสียงดัง และทำให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน ทั้งที่ไม่ได้เกิดไฟไหม้จริง

รายงานชี้ว่า ระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ยังคงใช้งานได้ดีผ่านระบบอื่นๆ และสระหล่อเย็นที่คอยหล่อเลี้ยงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก็ทำงานปกติ บริษัทโฮคุริคุเปิดเผยอีกด้วยว่า ได้เข้าไปประเมินความเสียหายแล้ว และพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นกับสถานะของโรงไฟฟ้า และไม่มีการตรวจพบกัมมันตรังสีภายนอกด้วย

ส่วนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คิชิวาซากิ คาริวะ ในจังหวัดนีงาตะ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว ยืนยันว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 7 ไม่ได้เดินเครื่องอยู่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว และมีน้ำที่ใช้หล่อเย็นพลังงานกระเด็นออกมาเพราะแผ่นดินไหว แต่ยืนยันว่า ไม่มีการตรวจพบความผิดปกติใดๆ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คิชิวาซากิ คาริวะ ในจังหวัดนีงาตะ Cr.wikimedia

ที่จังหวัดฟูกุอิ บริษัทพลังงานไฟฟ้าคันไซ หรือเคปโก รายงานว่า ไม่พบปัญหาใดๆของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 11 เครื่อง ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มิฮามะ โออิ และทาคาฮามะ โดยเตาปฏิกรณ์  7 จากทั้งหมด 11 เครื่องยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนอีก 4 เครื่องนั้นอยู่ในขั้นตอนเตรียมปลดประจำการแล้ว

นอกจากนี้ ยังไม่มีรายงานพบปัญหาใดๆที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สึรุกะ ของบริษัทเจแปนอโตมิกพาวเวอร์ ในจังหวัดฟูกูอิ โดยที่นี่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการปลดประจำการ และอีกครั้งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สึรุกะ ของบริษัทเจแปนอโตมิกพาวเวอร์ ในจังหวัดฟูกูอิ Cr. Wikimedia

อดีตที่เลวร้ายกับ “ฟูกุชิมะ”

แม้ครั้งนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใดได้รับความเสียหาย แต่มันก็ทำให้หลายคนอดนึกถึงภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 ไม่ได้ และแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็เกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลได้วางแผนที่จะเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มเติมอีก ซึ่งหลายตัวไม่ได้เปิดใช้งานเลยนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011

ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะปัจจุบัน Cr. Reuters

ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เมื่อปี 2011 Cr. Reuters / Ho New

หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นในเขตเซนไดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 สิ่งที่ร้ายแรงกว่าแผ่นดินไหวคือคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดเข้าชายฝั่ง มันกลืนกินอาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง และชีวิตผู้คนจำนวนมากหายไป

ครั้งนั้นคลื่นยักษ์ได้เข้าสร้างความเสียหายให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เพราะมันทำให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ล้มเหลว นั่นทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปล่อยน้ำเข้าไปเพื่อหล่อเย็นแทน

กัมมันตรังสีที่แผ่ออกมาทำให้ชาวบ้านในฟูกุชิมะต้องอพยพ บริเวณรอบๆกลายเป็นเมืองร้าง และผ่านมานับสิบปี เมืองทั้งเมืองก็ยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนเมื่อก่อน และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ น้ำที่ถูกใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

แม้จะผ่านการบำบัดแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ต้องใช้เวลานานถึงสิบปี ก่อนจะตัดสินใจปล่อยลงสู่ทะเล และนั่นก็ทำให้เกิดปัญหาต่อมาอีก เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างคัดค้านการกระทำเช่นนั้นของญี่ปุ่น

และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็กลายมาเป็นความเจ็บปวดของญี่ปุ่น รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในเวลานั้น จำเป็นต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อตรวจสอบ เพราะผู้คนทั้งประเทศไม่มั่นใจกับความปลอดภัย

ทำไมญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ อนุมัติแผนนโยบายเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งจะเป็นการขยายอายุของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้เกิน 60 ปี และหาตัวใหม่มาแทนที่ตัวเก่า นับเป็นนโยบายที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากนโยบายเดิมที่ญี่ปุ่นเคยใช้หลังเกิดภัยพิบัติในปี 2011

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คนปัจจุบัน Cr. Reuters

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 12 แห่งกลับมาเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2011ในจำนวนนี้ 5 แห่งได้รับอนุญาตให้เริ่มเดินเครื่องอีกครั้ง หรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะเริ่มเดินเครื่องใหม่ ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 10 เครื่องยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบว่าจะสามารถกลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้งหรือไม่

ขณะที่เตาปฏิกรณ์อีก 9 เครื่องไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินเครื่องใหม่ และอีก 24 เครื่อง ซึ่งรวมถึงเตาปฏิกรณ์ 10 ตัวของบริษัทเทปโก ในจังหวัดฟูกุชิมะ กำลังถูกปลดระวาง

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทาคาฮามะของบริษัทเคปโก กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังปิดมานานหลายปี โดยเหตุผลหลักๆเกิดจากการที่รัฐบาลต้องการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ และลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG

นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติในปี 2011 ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติ LNG รายต้นๆของโลก ถูกบังคับให้ต้องเพิ่มการซื้อ LNG ขึ้นอีก เพราะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 54 ปีถูกสั่งปิดทั้งหมด

อย่างการที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเคปโกกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ก็จะทำให้ญี่ปุ่นลดการนำเข้าก๊าซ LNG ไปได้มากเลยทีเดียว โดยมีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะสามารถลดการนำเข้าก๊าซ LNG ลงได้ 6-7 ล้านตัน จากเดิมต้องนำเข้าถึง 72 ล้านตันในปี 2022

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะเดินเครื่องอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นบางส่วนก็ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่นเหตุแผ่นดินไหว ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่ปี 2011  

ประชาชน 1,400 คนเข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ โดยสมมติเหตุการณ์ว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูดขึ้นนอกชายฝั่งจังหวัดนีงาตะ ทำให้ระบบหล่อเย็นล้มเหลว

แต่ชาวบ้านสะท้อนออกมาว่า ขั้นตอนการอพยพชาวบ้านนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก และดูใช้การไม่ได้จริง อย่างเช่น การฝึกซ้อมรับมือในกรณีที่เกิดหิมะตกหนัก ไม่ได้ปฏิบัติจริง เป็นการฝึกแบบภาคทฤษฎี แต่เมื่อปลายปี 2022 มีเหตุการณ์ที่หิมะตกหนักจนขวางเส้นทางอพยพหลักในเมืองคาชิวาซากิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ถนนถูกปิดนานถึง 52 ชั่วโมง

ส่วนในระหว่างเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชาวบ้านจะต้องอพยพออกให้พ้นรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังต้องมีการตรวจระดับกัมมันตรังสีในแต่ละคนว่าอยู่ภายในมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

ดังนั้นมีการคาดการณ์ว่า การจะอพยพชาวบ้านในรัศมี 5-30 กิโลเมตรออกจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวไปยังจุดที่ปลอดภัย อาจต้องใช้เวลานานถึง 134 ชั่วโมง หรือราว 5 วัน กว่าจะอพยพชาวบ้านราว 90 เปอร์เซ็นต์ออกไปได้หมด

แม้ชาวบ้านดูจะไม่มั่นใจกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ แต่ในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่ไม่กี่วัน หน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นก็เพิ่งออกมาประกาศยกเลิกคำสั่งแบนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ ของบริษัทเทปโก

ในขณะนี้ทางเทปโกอยู่ระหว่างการขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า การขออนุญาตจะเป็นไปได้ความยากลำบากกว่าเดิมหรือต้องล่าช้าออกไปหรือไม่ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้

 

 

ที่มา: Japantimes , Japantimes , asahi

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related