SHORT CUT
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติ หวังไขความลับของกระบวนการชราภาพในอวกาศ และคิดค้นวิธีการชะลอวัยให้นักบินอวกาศที่ร่างกายได้รับผลกระทบจากสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมอวกาศ (SIL) ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแห่งสหราชอาณาจักร ส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อมนุษย์ขึ้นไปโคจรบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อศึกษาว่าเพราะเหตุใดกระบวนการชราภาพของมนุษย์จึงเร็วขึ้นในอวกาศ
การทดลองนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อศึกษาว่าสภาวะที่แรงโน้มถ่วงแทบไม่มีผล (Microgravity) สามารถช่วยให้นักวิจัยเร่งกระบวนการชราภาพในอวกาศได้หรือไม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเซลล์ที่เหมือนกันบนโลก
ดร.กาห์ดา อัสซาเลห์ (Ghada Alsaleh) หัวหน้าทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนวัตกรรมอวกาศของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า
ทีมวิจัยผสมผสานขอบเขตระหว่างเทคโนโลยีอวกาศและชีววิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก “ออร์แกนอยด์” (Organoid) ซึ่งเป็นเซลล์แบบจำลอง 3 มิติที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง จำนวน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติและอีกกลุ่มอยู่บนโลก เพื่อศึกษากระบวนการชราภาพและผลกระทบของสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ รวมถึง สภาพแวดล้อมในอวกาศที่มีผลต่อกระบวนการดังกล่าว
ตัวอย่างออร์แกนอยด์ได้ถูกเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการแบบครบวงจรขนาดเล็กในทรงลูกบาศก์ซึ่งมีความยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตรและเสียบเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติโดยตรง เพื่อส่งข้อมูลและการควบคุมต่าง ๆ แบบเรียลไทม์กลับไปยังห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
ดร.อัสซาเลห์ ระบุว่า การทดลองทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องพึ่งการดูแลจากนักบินอวกาศ เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดดำเนินไปแบบอัตโนมัติ ผ่านการควบคุมทางไกลจากบนโลก
การเดินทางท่องอวกาศของนักบินอวกาศตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่าสภาวะที่แรงโน้มถ่วงต่ำส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร ตลอดจน ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลงและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
ดร.อัสซาเลห์ ระบุว่า การศึกษานี้นอกจากจะมุ่งช่วยเหลือผู้คนบนโลกแล้ว ยังอาจช่วยให้นักบินอวกาศไม่แก่เร็วขึ้น รวมถึง รักษาภาวะความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติภารกิจในอวกาศได้
เป้าหมายของนักวิจัยรายนี้คือการหาวิธีชะลอการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น โรคกระดูกพรุนและความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะอยู่บนโลกหรือในอวกาศ ถือเป็นการศึกษาที่สำคัญอย่างมากต่อแผนสำหรับภารกิจการส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดาวอังคารหรือดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลกว่านั้นในอนาคต
ที่มา : Yahoo