ทำความรู้จัก “Ai-Da” หุ่นยนต์ศิลปินตัวแรกของโลก ที่เคยสร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งการวาดรูปที่มีมูลค่าสูงถึง 46 ล้านบาท รวมถึงการเข้าไปในสภาฯ อังกฤษมาแล้ว
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการเทคโนโลยี นวัตกรรมและหุ่นยนต์ เมื่อ ภาพวาดของ “Ai-Da” หุ่นยนต์ที่มีหน้าตาเสมือนมนุษย์ ถูกประมูลไปในราคา 1.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 45 ล้านบาท
โดยภาพภาพนี้ เป็นผลงานที่ชื่อว่า ‘A.I. God. Portrait of Alan Turing (2024)’ โดยมีแรงบันดาลใจมาจาก Alan Turing นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ถอดรหัสอีนิกม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมูลค่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่า 10 เท่า โดยการประมูลครั้งนี้เป็นครั้งแรกของงานประมูลภาพวาดที่สร้างจาก Humanoid Robot และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานในเทคโนโลยี AI ที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้นในวงการศิลปะในอนาคต
และในเมื่อกระแสของ “Ai-Da” หุ่นยนต์ผู้มีใจรักในงานศิลปะตัวนี้ กำลังได้รับการจับตามอง , SPRiNG Tech ขอชวนมาทำความรู้จัก เจ้า Ai-Da หุ่นยนต์ที่มีดวงตากลมโตและไว้ผมม้าตัดสั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกกัน
หุ่นยนต์ “Ai-Da” หรือ ไอด้า ถูกสร้างขึ้นจากการคิดค้นของ เอเดน เมลเลอร์ เจ้าของแกลเลอรีผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Ai-Da Robot , เขาร่วมสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ชนิดนี้ร่วมกันผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเบอร์มิงแฮม โดย ชื่อของหุ่นยนต์ ถูกตั้งชื่อตาม เอดา เลิฟเลซ (Ada Lovelace) นักคณิตศาสตร์และผู้บุกเบิกวงการคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ
โดย “Ai-Da” คือหุ่นยนต์ศิลปินที่สมจริงสุดๆ ตัวแรกของโลก เธอสามารถวาดรูปและระบายสีได้โดยใช้กล้องในดวงตาของเธอ อัลกอริทึม AI และแขนกลของเธอ เธอเป็นศิลปินการแสดง นักออกแบบ และนักกวี ตั้งแต่เธอถูกสร้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ตอนนี้เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่เธอสร้างชื่อ สร้างผลงานในโลกความเป็นจริง
นอกจากนี้ “Ai-Da” ยังสามารถแต่งกวีได้ด้วย โดยหุ่นยนต์ตัวนี้อธิบายว่า ใช้การวิเคราะห์คลังข้อความขนาดใหญ่เพื่อระบุเนื้อหาและโครงสร้างของบทกวี จากนั้นก็ใช้เนื้อหาและโครงสร้างนั้นๆ ในการสร้างบทกวีชิ้นใหม่ขึ้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ผลงานต่างๆ ที่ Ai-Da สร้างสรรค์ขึ้นนั้น เธอทำงานอย่างไร ทั้งนี้การทำงานของ Ai-Da ใช้ระบบ Ai ในการทำงาน ไอด้ามีกล้องที่อยู่ใต้ดวงตาอันจะทำหน้าที่เก็บภาพสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อมาประมวลผลเป็นแรงบันดาลใจก่อนจะลงมือรังสรรค์ผลงานผ่านมือของเธอเอง
อย่างไรก็ตามการสร้างสรรค์ผลงานของ Ai-Da นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเธอเพียงลำพัง แต่เธอมีผู้ช่วยเป็นมนุษย์ ซึ่งจะคอยเก็บรายละเอียดงาน หรือช่วยจัดแจงท่าทางของเธอในระหว่างรังสรรค์ผลงาน เนื่องจากแขนของไอด้ายังคงมีข้อจำกัดอยู่มากมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2022 Ai-Da เคยวาดภาพเหมือนของศิลปินเพลงที่ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีแกลสตันบิวรี ได้แก่ บิลลี ไอลิช, ไดอานา รอสส์, เคนดริค ลามาร์ และพอล แมคคาร์นีย์ ก่อนที่จะมาสร้างผลงานเลื่องชื่อ ‘A.I. God. Portrait of Alan Turing (2024)’ และถูกประมุลไปด้วยเงินมหาศาล
ในช่วงปี 2022 หุ่นยนต์ “Ai-Da” เคยถูกเชิญเข้าไปให้หลักฐานกับสมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร และมีการพูดคุยในประเด็นว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะส่งผลกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างไร นับเป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์ศิลปินได้ปรากฎตัวและพูดคุยในรัฐสภาสหราชอาณาจักร
โดยตอนนั้น เมื่อถูกถามว่า การสร้างสรรค์ของหุ่นยนต์ต่างจากมนุษย์อย่างไร Ai-Da กล่าวกับสมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักรว่า “ฉันต้องพึ่งพาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอัลกอริธึม แต่แม้ว่าฉันจะไม่มีชีวิต ฉันก็สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้”
แน่นอนว่า ผลงานของ “Ai-Da” ที่สร้างขึ้นมานั้น มีกระแสต่อต้านและไม่เห็นด้วย และถูกตั้งคำถามว่า ผลงานของ Ai-Da ถือเป็นศิลปะหรือไม่ ?
นอกจากนี้ บางคนมองว่าเธอเป็น นวัตกรรมที่เปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปะ แต่ก็มีบางกลุ่มที่กังวลว่า AI อย่าง Ai-Da อาจมาแทนที่ศิลปินมนุษย์และเปลี่ยนความหมาย ของศิลปะที่มนุษย์เราคุ้นเคย
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่เป็นจริงและเกิดขึ้นแล้ว ก็คือ ผลงาน "AI God" เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถของ AI และการพัฒนาทาง เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
โดยการประมูล ‘A.I. God. Portrait of Alan Turing (2024)’ ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการศิลปะ ที่แสดงให้เห็นว่า AI ก็สามารถสร้างงานศิลปะ ที่มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในโลกศิลปะได้แล้ว