SHORT CUT
สวยไม่ไหว ภาพกระจุกดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอุส จาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ที่อยู่ห่างจากโลกกว่า 960 ปีแสง
กระจุกดาวเดียวกันนี้เคยปรากฏอยู่ในชุดภาพครบรอบ 33 ปีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในเดือน เม.ย. 2023 แต่ภาพจากฮับเบิลเป็นเพียงภาพพื้นผิวของบริเวณนี้เท่านั้น เนื่องจากกลุ่มฝุ่นบดบังกระบวนการก่อตัวของดาวฤกษ์ส่วนใหญ่เอาไว้
แต่ด้วยรูรับแสงที่กว้างกว่าและถ่ายภาพในช่วงแสงอินฟราเรด ทำให้เว็บบ์สามารถมองผ่านม่านฝุ่นเพื่อเผยให้เห็นดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ ดาวแคระน้ำตาล และวัตถุท้องฟ้าที่มีมวลเท่ากับดาวเคราะห์ได้
ใจกลางของภาพแสดงภาพเบื้องลึกเข้าไปในใจกลางของเนบิวลา NGC 1333 ในภาพ เราจะเห็นพื้นที่สีส้มขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงถึงก๊าซที่เรืองแสงในช่วงอินฟราเรด
วัตถุเหล่านี้เรียกว่า Herbig-Haro ก่อตัวขึ้นเมื่อสสารที่แตกตัวเป็นไอออนซึ่งพุ่งออกมาจากดาวฤกษ์อายุน้อยชนเข้ากับกลุ่มเมฆที่อยู่รอบ ๆ คือเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งก่อตัวดาวฤกษ์ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
ดาวฤกษ์อายุน้อยหลายดวงในภาพนี้ล้อมรอบไปด้วยจานก๊าซและฝุ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดระบบดาวเคราะห์ในที่สุด
เช่นเดียวกับดาวฤกษ์อายุน้อยในภาพนี้ ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเองก่อตัวขึ้นภายในกลุ่มเมฆโมเลกุลที่เต็มไปด้วยฝุ่นเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน ดวงอาทิตย์ของเราไม่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่ก่อตัวขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของกระจุกดาว ซึ่งบางทีอาจมีมวลมากกว่า NGC 1333 ด้วยซ้ำ
กระจุกดาวในภาพมีอายุเพียง 1–3 ล้านปี ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่เปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาช่วงเวลาแรกเริ่มของการเกิดดาวฤกษ์ ตลอดจนดาวแคระน้ำตาลและดาวเคราะห์ที่ล่องลอยอยู่
ที่มา : ESA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง