SHORT CUT
สตาร์ทอัพสหรัฐ เตรียมสร้างเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน เพื่อใช้สำหรับขนส่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่กำลังขยายตัวขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะขนส่งทางถนนได้
เครื่องบินลำนี้มีชื่อว่า WindRunner และมันไม่ใช่แค่เครื่องบินธรรมดาๆ แต่เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่มาก ที่สร้างขึ้นเพื่อขนส่งใบพัดกังหันขนาดใหญ่ ที่เป็นแกนหลักของการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมบนบกในอนาคต โดย WindRunner จะทำหน้าที่บรรทุกสินค้าที่ไม่สามารถบรรทุกบนท้องถนนได้ และยังสามารถใช้รันเวย์ที่สั้นกว่าเครื่องบินทั่วไป ทำให้สามารถเข้าถึงภูมิประเทศห่างไกลได้สะดวก
เมื่อพูดถึงกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า หากขนาดยิ่งใหญ่กว่าย่อมจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ยิ่งใบพัดใหญ่ ก็ยิ่งจับลมได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงสามารถผลิตพลังสำหรับเราได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญคือ การเอาใบพัดขนาดมหึมาเหล่านี้ไปยังพื้นที่ที่ต้องการติดตั้งนั้นเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว เพราะถนนไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายใบพัดที่มีความยาวเกิน 459 ฟุต
Radia สตาร์ทอัพด้านพลังงานในโคโลราโด โดย Mark Lundstrom วิศวกรการบินและอวกาศที่ได้รับการฝึกอบรมจาก MIT จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง WindRunner โซลูชันการขนส่งทางอากาศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน เพื่อขนส่งใบพัดกังหันลมขนาดใหญ่ ไปยังไซต์ฟาร์มกังหันลมโดยตรง รวมถึงสถานที่ที่เข้าถึงได้ยาก เนื่องจากมองว่า การผลิตใบพัดกังหันในพื้นที่ก่อสร้างโดยตรง จะยุ่งยากและมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตในโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ Radia เครื่องบินลำนี้ จะทำให้เครื่องบิน Antonov An-225 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา (ถูกทำลายในช่วงเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนของรัสเซีย) มีขนาดเล็กลงทันตา
ข้อดีที่สำคัญคือ มันสามารถลงจอดและบินขึ้นจากลานบินได้ในระยะ 6,000 ฟุต (หรือประมาณ 1,800 เมตร) โดยไม่ต้องสร้างพื้นแข็งแรงเป็นพิเศษ เพียงแค่ปรับให้เรียบเท่านั้น
แม้ขนาดของเครื่องบินอาจจะใหญ่มาก แต่มีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม ด้วยการออกแบบที่ Radia ยืนยันว่าบริษัทมุ่งเน้นไปที่ "เทคโนโลยีและความปลอดภัยที่มีอยู่ โดยการใช้วัสดุการบิน ส่วนประกอบ และเทคนิคการประดิษฐ์ที่ผ่านการทดลองและใช้งานได้จริง (หากมี) ที่ได้รับการอนุมัติจาก FAA [US Federal Aviation Administration] มีการผลิตจำนวนมากอยู่แล้วและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ”
แม้ยังไม่มีการยืนยันช่วงระยะเวลาที่ชัดเจนบนเว็บไซต์ของ Radia แต่ข้อมูลระบุว่า แบบจำลองขนาด 1/42 ของ WindRunner ได้รับการทดสอบในอุโมงค์ลมแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทฯ กำลังเริ่มทำงานร่วมกับโรงงานและซัพพลายเออร์เพื่อวางแผนการผลิต คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปี 2570
ทั้งนี้ WindRunner จะเป็นมากกว่าเครื่องบินขนาดใหญ่ แต่มันจะกลายเป็นอนาคตของพลังงานหมุนเวียน ด้วยการทำให้สามารถขนส่งใบพัดกังหันขนาดมหึมาไปยังสถานที่ต่างๆบนบกได้ เป็นการปูทางไปสู่ฟาร์มกังหันลมที่มีประสิทธิภาพและคุ้มต้นทุนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนพลังงานสะอาดลงได้อีก และมันอาจปรับใช้ในการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญอื่นๆได้ในอนาคต
ที่มา