SHORT CUT
สตาร์ทอัพญี่ปุ่นเปิดตัวระบบส่องกล้องตรวจมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย AI แม่นยำทำหน้าที่เหมือนตาพิเศษ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ละเอียดขึ้น และช่วยลดจำนวนเคสที่ถูกมองข้าม
ปัจจุบันนี้ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้ามามีบทบาทในธุรกิจหลายภาคส่วน ล่าสุด AI Medical Service สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีสำนักงานในกรุงโตเกียว กำลังพัฒนาระบบสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารโดยใช้เอไอ
รายงานระบุว่า โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นหนึ่งในมะเร็งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งมักจะเป็นมะเร็งที่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งสตาร์ทอัพ AI Medical Service มองว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า อัตราผู้รอดชีวิตในระยะเวลา 5 ปีสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกะเพราะอาหารระยะที่ 1 อยู่ที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราการรอดชีวิตจะต่ำลงหากผู้ป่วยเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ 4 โดยจะลดเหลือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และ 6.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
โทโมฮิโร ทาดะ ซีอีโอของ AI Medical Service เปิดเผยว่า การตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่ระยะต้นจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ได้
การตรวจสอบมะเร็งด้วยการส่องกล้องจะใช้สายตาของมนุษย์ หมายความว่า บางครั้ง อะไรบางอย่างที่ผิดปกติก็อาจจะถูกมองข้ามไปได้ ดังนั้นประสบการณ์ของแพทย์จึงถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทาดะระบุด้วยว่า เขาหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการมองข้ามสิ่งผิดปกติ และได้ยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาทางการแพทย์ให้มีความเท่าเทียมมากขึ้นโดยใช้เอไอเข้ามาช่วย
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา AI Medical Service เพิ่งจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์เอไอตัวแรก ซึ่งใช้ในการช่วยการตรวจหามะเร็งกระเพาะอาหาร โดยในระหว่างการส่องกล้อง ระบบเอไอจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพที่บันทึกเอาไว้ด้วยกล้องแบบเรียลไทม์ ระบบดังกล่าว ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข สามารถบูรณาการเข้ากับกล้องที่สร้างโดยบริษัท Olympus และ Fujifilm ซึ่งทั้งสองถือเป็นผู้นำด้านตลาดกล้องส่องร่างกายระดับโลก
เอไอจะทำหน้าที่เหมือนตาพิเศษ ในระดับที่ดีเทียบเท่ากับผู้ทำหน้าที่ส่องกล้องที่มีประสบการณ์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ละเอียดขึ้น และช่วยลดจำนวนเคสที่ถูกมองข้าม
ทาดะเปิดเผยด้วยว่า ระบบเอไอได้รับการฝึกมาด้วยข้อมูลจำนวนมากที่แพทย์ผู้เป็นมนุษย์อาจจะไม่สามารถเรียนรู้จดจำได้หมดภายในช่วงชีวิต ดังนั้นการทำงานกับระบบเอไอจึงช่วยสร้างความเป็นไปได้ที่จะมอบบริการรักษาทางการแพทย์ที่ดีขึ้นไปอีกให้แก่ผู้คน
ระบบเอไอนี้จะเป็นเหมือนผู้ช่วยสำหรับแพทย์ เพราะในท้ายที่สุด แพทย์จะต้องเป็นคนวินิจฉัยโรค แต่ระบบดังกล่าวก็จะเป็นการช่วยลดภาระให้แก่แพทย์ได้มาก
ข้อมูลจาก : The japan times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง