บริษัท Hyperloop One ที่พัฒนาการเดินทางแห่งโลกอนาคต ผ่านท่อสูญญากาศ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกจับตามองอย่างมาก ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด หลังไม่มีรัฐบาลไหนในโลกยอมลงทุน
Hyperloop One หรือเดิมชื่อ Virgin Hyperloop คือ ระบบการเดินทางด้วยกระสวยความเร็วสูงผ่านท่อสูญญากาศ แต่ล่าสุดมีรายงานว่า กำลังขายทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัท , เลิกจ้างพนักงานที่เหลืออยู่ และเตรียมที่จะปิดตัวลงภายในสิ้นปี 2023 เนื่องจากไม่มีรัฐบาลใด ตกลงทำสัญญาสร้างระบบคมนาคมดังกล่าว กลายเป็นการปิดฉากคมนาคมแห่งโลกอนาคตนี้ไป
ก่อนหน้านี้ Hyperloop One เป็นที่พูดถึงเมื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางไปดูงานเมื่อปี 2561 โดยเขาระบุผ่านเพจส่วนตัวว่า ที่สำคัญที่สุด ไฮเปอร์ลูปเป็นนวัตกรรมล้ำยุคก็จริง แต่ระบบทั้งหมดกลับเรียบง่ายจนสามารถผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก นอกจากระบบขับเคลื่อนที่เป็นเทคโนโลยีของ Virgin Hyperloop One ระบบอื่นเช่น ราง ตัวรถ รวมถึงอุโมงค์สูญญากาศที่ใช้สำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบรางรถไฟ สามารถผลิตได้ในไทย เท่ากับว่าหากเราสร้างไฮเปอร์ลูปในไทยได้จริง นอกจากคนไทยจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกสบาย และราคาไม่แพง ยังสามารถก่อเกิดการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศขนานใหญ่ด้วย
ย้อนกลับไปในปี 2561 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดียบรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทเวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูป วัน เตรียมสร้างเส้นทางขนส่งความเร็วสูงที่เรียกว่า รถไฟความเร็วสูงไฮเปอร์ลูป วัน ระหว่างเมืองมุมไบและเมืองปูเณ่ 2 เมืองใหญ่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของอินเดีย เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงไฮเปอร์ลูปนี้จะเชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติมุมไบอีกด้วย
รัฐบาลอินเดียมองว่า การมีไฮเปอร์ลูป วัน จะทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดลง ประหยัดเวลาการเดินทางและการขนส่งสินค้า ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจก ชาวอินเดียอดทนรออีกแค่ 10 ปีเท่านั้น
แต่ล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานว่า Hyperloop One ต้องปิดกิจการ หลังจากที่ไม่สามารถเจรจาสัญญาก่อสร้างกับหน่วยงานใดได้สำเร็จ ถือว่าเป็นการปิดฉากอนาคตการเดินทางรูปแบบใหม่ ที่กลายเป็นความฝันที่ไม่เป็นจริง
บริษัทที่ทำ ไฮเปอร์ลูป ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยได้รับเงินลงทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ จากกลุ่มบริษัท Virgin เพื่อที่จะพัฒนาการเดินทางผ่านท่อสูญญากาศ และขับเคลื่อนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า โดยผู้โดยสารจะนั่งอยู่ในแคปซูลที่ถูกส่งผ่านท่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ด้วยความเร็วที่เทียบเท่ากับเครื่องบิน
โดย อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสนใจการเดินทางแบบนี้ ที่จะทำให้การเดินทางจาก ลอสแองเจลิส ไป ซานฟรานซิสโก ซึ่งมีระยะทางไกลกว่า 600 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ 30 นาที
Hyperloop One เหมือนจะเป็นการเดินทางแห่งโลกอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ Hyperloop ก็มีข้อด้อยคือขนส่งคนได้จำนวนน้อย ไม่เหมือนเครื่องบินหรือรถไฟที่สามารถขนคนได้หลายร้อยคนในครั้งเดียว จึงทำให้การพัฒนา Hyperloop เพื่อนำมาใช้จริง ไม่สมเหตุสมผล ต่อการขนส่งผู้โดยสารให้คุ้มทุน จนทำให้บริษัทมาถึงทางตันและต้องปิดกิจการในที่สุด ซึ่งนี่ยังไม่รวมเรื่องอื้อฉาวของบอร์ดบริหาร เรื่องคุกคามทางเพศและโจรกรรมข้อมูลที่ทำให้บริษํทขาดความน่าเชื่อถือลงไปอีกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อ้างอิง [1]
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อินเดียปฏิวัติระบบขนส่งครั้งใหญ่! เตรียมสร้างระบบขนส่งความเร็วสูง ‘ไฮเปอร์ลูป วัน’
'อีลอน มัสค์' เผย รัฐบาลสหรัฐฯไฟเขียว สร้าง "ไฮเปอร์ลูป" เชื่อม นิวยอร์ก-วอชิงตันดีซี
10 ที่สุดข่าวแห่งปี 2566 : จาก Line Today พิธา อดเป็นนายกฯ คดีหุ้น ITV ยืนหนึ่ง