ทำความรู้จัก วังจันทร์วัลเลย์ ระยอง ส่วนหนึ่งของ EECi ศูนย์รวมนักวิจัยหัวกะทิ พร้อมวางแผนศูนย์ทดสอบสุดไฮเทค เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของภูมิภาคตีตื้น ซิลิคอนวัลเลย์
วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป็นส่วนหนึ่งของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่
EECi เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วังจันทร์วัลเลย์ มีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ซึ่งได้รับการรับรอง จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้แก่ Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy
ไม่ได้มีแค่ห้องวิจัย
นอกจากศูนย์รวมสถาบันวิจัยและห้องวิจัยต่าง ๆ แล้ว วังจันทร์วัลเลย์ ยังมีสถานศึกษาสำหรับพัฒนาบุคลากรระดับแนวหน้าของไทย อย่าง มหาวิทยาลัยวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี (STEEM) นั่นหมายความว่านักวิจัยไทย จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพได้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา
เราจะมีอะไรระดับโลกอีกเยอะ
ตามแผนงานของ EECi พบว่าปี 2561-2563 เกิดการลงทุนในวังจันทร์วัลเลย์ จากภาครัฐ 5,989 ล้านบาท และจากภาคเอกชนกว่า 3,190 ล้านบาท จากการประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่แผนตั้งแต่ปี 2565-2576 พบว่า จะมีการลงทุนทั้ง สนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ , โรงงานพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ และ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3GeV ซึ่งหากสร้างเสร็จจะเป็นเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
สำหรับเครื่องกำเนินแสงซินโครตรอน หากกล่าวสรุปให้เข้าใจง่าย เป็นเครื่องที่นำเอาอนุภาคที่เล็กมาก ๆ เล็กกว่าเส้นผมมาฉายด้วยความเร็วสูงแล้วนำมาชนกับอนุภาคอื่น ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอนุภาคใหม่ ๆ เพื่อไขคำตอบที่นักวิทยาศาสตร์ค้นหาได้ โดยบนโลกนี้มีอยู่มากกว่า 60 แห่งทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ญี่ปุ่น ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสิงคโปร์และไทยที่เป็นเจ้าของ
นั่นหมายความว่านักวิทยาศาสตร์ไทยจะสามารถทดลองสิ่งต่าง ๆ ในระดับที่ใหญ่ขึ้นและค้นคว้างานวิจัยระดับโลกด้วยเทคโนโลยีระดับโลกได้
คิดค้น วิจัย ทดลอง ในที่เดียวกัน
ขณะเดียวกันภายใน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) ก็มีการลงทุน พัฒนาและทดลองสิ่งใหม่ ๆ มากมาย อาทิ การทดลองอากาศยานไร้คนขับที่พัฒนาโดยคนไทย ด้วยโครงข่าย 5G ระหว่าง AIS 5G และ AI & Robotics Ventures (ARV) บริษัทลูกของ PTTEP รองรับการควบคุมระยะไกลที่เสถียรมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและแจ้งเตือนได้แบบเรียลไทม์ ช่วยในการบริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม. และยังลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการดึงดูดนักวิจัยเก่ง ๆ จากต่างประเทศด้วยมาตรการทางภาษี โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี คิดร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย และสมาร์ทวีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากอุปกรณ์ และยังมีบุคลากรที่ทำให้คนไทยพร้อมต่อการก้าวไปสู่ระดับโลก แต่อย่างไรต้องติดตามต่อไปว่าหลังจากนี้ วังจันทร์วัลเลย์ จะสามารถทำตามแผนที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ ? เพราะโครงกรทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยงบประมาณมหาศาลในการลงทุนและใช้เวลาในการวัดผลสำเร็จ
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง