ความสงสัยเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ว่าแจกอย่างไร ช่องทางไหน ใช้จ่ายอย่างไร โดยทางพรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงเพิ่มว่า เป็นการแจกเงินในรูปแบบ Utility Token แต่ยังติดปัญหาขัดต่อกฏเกณฑ์ของ ธปท. จึงต้องรอการหารืออีกครั้ง
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ได้ให้ข้อมูลแก่กรุงเทพธุรกิจว่า เงินดิจิทัลที่นำมาใช้ในโครงการดังกล่าวจะเป็นในรูปของ Token ซึ่งเป็น Utility Token ประเภทที่ 1 ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 สามารถใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคได้
โดยผู้รับเงิน สามารถลงทะเบียนในฐานะผู้ค้าขาย นำเงินที่ได้รับไปแลกคืนเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้ และต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ
ส่วนเงื่อนไขและหลักของนโยบายนี้ จะเป็นการสร้างและเติมเงินในดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร อาจปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในกรณีที่ถิ่นที่อยู่ไม่มีร้านค้าให้สามารถใช้จ่ายได้
ส่วนแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการ จะมาจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างรัฐบาลรักษาการซึ่งการทำงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถดำเนินได้ ดังนั้นงบประมาณปี 2567 จะถูกจัดทำขึ้นใหม่ในปีหน้า
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
Utility Token คืออะไร
Utility Token เป็น Token ที่ช่วยในการระดมทุนหรือโครงการจัดหาเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพ บริษัท หรือกลุ่มที่พัฒนาโครงการต่างๆ เป็นรูปแบบของโทเคนที่แจกให้ระหว่างการขายแบบกลุ่ม
บริษัทสร้าง Utility Token เปรียบได้ถึงการสร้าง คูปองดิจิทัล รูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้แลกสำหรับเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม หรือสิทธิพิเศษสำหรับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ
โดยที่ Utility Token เป็นรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นสำหรับการใช้จ่ายภายในระบบนิเวศ Blockchain โดยเฉพาะ จะไม่ถูกใช้เพื่อเป็นการลงทุนใดๆ หากมีการจัดการโทเคนอย่างเหมาะสม ก็จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายของรัฐบาลกลางที่ควบคุมหลักทรัพย์ รวมถึงหลายประเทศไม่มีกรอบในการกำกับดูแล
ข้อดีของ Utility Tokens
Utility Tokens ช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างง่ายดายและโทเคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เสมือนเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเครือข่าย หากไม่มี Utility Tokens ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการของแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านั้นได้
ข้อเสียที่ท้าทายของ Utility Token
อย่างไรก็ตาม การสร้างเหรียญใหม่นี้ จำเป็นต้องประสานกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยการนิยามเพิ่มและออกประกาศใช้โดย ก.ล.ต. ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นใดเพิ่มเติม
เพื่อให้เหรียญนี้ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) ซึ่งขณะนี้ ยังถือว่าเป็นข้อห้ามของ ธปท. ดังนั้นหาก ธปท. ให้ความร่วมมือ การออกประกาศของ ธปท. จะปลดล็อกข้อห้ามนี้ได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, SCB10x