svasdssvasds

ทำไมสตรีมมิ่งแพง ? หลัง Netflix ห้ามหาร ส่วน Disney+ Hotstar ขึ้นราคา

ทำไมสตรีมมิ่งแพง ? หลัง Netflix ห้ามหาร ส่วน Disney+ Hotstar ขึ้นราคา

กำลังจะเจ๊งเลยต้องขึ้นราคาจริงไหม ? หลัง Netflix ห้ามหาร ส่วน Disney+ Hotstar ขึ้นราคา ทำไมสตรีมมิ่งถึงพากันแพงขึ้น ?

แพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือ OTT (over-the-top) เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการเนื้อหาวิดีโอด้วยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต อาทิ Netflix , Disney+ Hotstar , VIU , iQIYI , Bilibili และ Amazon Prime เป็นต้น ดดยในช่วงแรกที่เข้ามาทำการตลาดราคาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต่างตั้งราคาถูกเพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้เข้ามาใช้บริการ

แต่ล่าสุด Netflix ประกาศนโยบายขัดขวางการหารค่าบริการสำหรับผู้ใช้ที่อยู่คนละบ้านกัน ทำให้การหารเน็ตฟลิกซ์ เป็นไปได้ยากมากขึ้น ทั้งที่ขัดต่อกฎการใช้บริการแต่แรกอยู่แล้ว ส่วน Disney+ Hotstar ประกาศขึ้นราคาแพคเกจเดิมเกือบ 3 เท่า จาก 99 บาท/เดือน เป็น 289 บาท/เดือน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ผู้ดำเนินธุรกิจเอเจนซีดิจิทัล และ อุปนายกและกรรมการสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ระบุว่า การขึ้นราคาและปรับกฎใหม่ของ Netflix และการขึ้นนราคา Disney+ Hotstar เป็นกลไกปกติของธุรกิจ ที่ทำราคาโปรโมชั่นช่วงแรกในราคาถูก ทำให้ผู้ใช้เข้าไปใช้บริการให้มาก ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขึ้นราคาเพื่อกลับมาทำกำไร

"หลังจากนี้เราน่าจะได้เห็นแพลตฟอร์มอื่น ๆ ขึ้นราคาค่าบริการรายเดือนอีก ทั้งขึ้นราคาโดยตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายหรือเพิ่มราคา ทำให้ต้นทุนในการรับชมของคนดูสูงขึ้น หรือหากการเพิ่มราคากระทบกับลูกค้าบางส่วนที่ไม่พร้อมจ่ายเพิ่มจริงๆ แพลตฟอร์มก็อาจเพิ่มทางเลือกให้ด้วยแพคเกจราคาถูกลงแต่มีโฆษณา ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย"

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด

ภวัต อธิบายว่า การทำการตลาดในธุรกิจบนโลกดิจิทัล ในช่วงแรกจะทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ให้คนมาใช้บริการก่อนจนติดเป็นนิสัย ทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิง , อี-คอมเมิร์ซ และ แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ สังเกตุได้จากช่วงแรกที่ แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีทั้งคูปองส่วนลด ฟรีค่าส่ง หรือราคาค่าบริการรายเดือนถูก แล้วจึงขึ้นราคา

เมื่อติดนิสัย มีแฟนตัวยงแล้ว การจะเพิ่มราคาเพื่อกลับมาทำกำไรจึงเกิดขึ้น

ภวัต เชื่อว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มีต้นทุกในการประกอบธุรกิจของตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะหาช่องทางกลับมาทำกำไร ประกอบกับการที่ผู้ใช้ติดเป็นนิสัย หรือ มีแฟนตัวยงแล้ว แพลตฟอร์มจึงเชื่อว่าการเพิ่มราคาจึงไม่ได้ทำให้เสียฐานลูกค้ามากนัก

สังเกตุการขาดทุนของธุรกิจในโลกดิจิทัล ทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิง , อี-คอมเมิร์ซ และ แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ เขาเลือกที่จะขาดทุนในช่วงแรก เพื่อให้กลับมาทำกำไรได้ในภายหลัง เมื่อผู้บริโภคติดการใช้งานแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือการขึ้นราคาจะทำให้ผู้ใช้น้อยลงตามกระแสโซเชียลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือไม่ หรือหากกระทบจริง แพลตฟอร์ม OTT เจ้าใหญ่ ๆ จะใช้วิธีการอื่น ๆ ให้ผู้ใช้ยอมจ่ายเงินเพิ่มแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้อย่างบางแอปฯ ที่หากจ่ายเพิ่มเป็น VVIP เพื่อดูคอนเทนต์ก่อน เป็นต้น

 

related