เมื่อช่วงเช้า กสทช.เปิดให้มีการเข้าร่วมประมูลวงโคจรดาวเทียมสำหรับใช้ในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดย 3 ผู้เข้าร่วมประมูลมาถึงสถานที่จัดงานตั้งแต่ช่วงเช้า ผ่านไปครึ่งวันรู้ผล สรุปได้เงินรวม 806 ล้านบาท
ทางด้านของบรรยากาศการประมูลตามกติกา เอกชนเคาะครั้งเดียวตามกติกาเพื่อรับราคา ในการเซ็นประมูลทั้งหมด 5 ชุด ผู้เข้าร่วมประมูลเลือกเพียง 3 ชุด ส่วนที่เหลือไม่มีการเคาะประมูล ทำให้มีเงินเข้ารัฐที่ 806 ล้านบาทหลังเข้าห้องประมูลเพียงครึ่งชั่วโมง
เปิดประมูลแบบหวังให้คุ้มค่า
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.กล่าวในพิธีเปิดว่า นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมหรือข่ายงานดาวเทียมที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู มาบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
ถือว่าเป็นการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการประมูลสิทธิการเข้าใช้นับเป็นก้าวสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการใช้งาน อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที และต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี และ 6จี ในอนาคต
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กสทช.เข้าร่วมด้วย 5 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. และพล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ส่วนนายต่อพงศ์ เสบานนท์ กรรมการ กสทช.ไม่ได้มา เนื่องจากป่วย
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
ทางด้านของบริษัทผู้เข้าร่วมประมูล ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ บริษัท สเปซเทคอินโนเวชั่น จำกัด นายสรรพชัยย์ หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
ลำดับผู้เข้าร่วมประมูล
จากนั้น ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ได้จับสลากลำดับการจับสลากห้องประมูลและซองยูเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดของตัวแทนผู้มีสิทธิประมูล ดังนี้
โดยตัวแทนผู้บริหารจากทั้งสามบริษัทที่มีสิทธิประมูล ได้ จับสลากห้องประมูล และซองยูเซอร์เนมกับพาสเวิร์ด ได้แก่ บริษัท เอ็นที จับสลากได้ ห้องประมูลที่ 2 และซองที่ 5 บริษัท พร้อม เทคนิคคอล จับสลากได้ ห้องประมูลที่ 1 และซองที่ 9 ส่วน บริษัท สเปซ เทค จับสลากได้ห้องประมูลที่ 3 และซองที่ 1
ราคาของวงโคจรดาวเทียม
ซึ่งในแต่ละรอบเวลาระยะเคาะประมูล 20 นาที จะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ ผู้ชนะจะได้รับใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี
บรรยากาศในห้องประมูล
การประมูลเริ่มชุดที่ 4 ประกอบด้วย 126E ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาท เหมาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และทะเลจีน สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นดาวเทียม Broadcast และ Broadband ราคาเริ่มต้น 8.6 ล้านบาท ใช้โดยผลประมูลจบลงใน 2 นาที ด้วยการเคาะราคาจากเอกชนเพียง 1 ครั้ง โดยราคาของชุดที่ 4 จบที่ ราคา 9.076 ล้านบาท
ต่อมาคือชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการ Broadband เป็นวงโคจรเดิมของไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เหมาะกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และอินโดจีน ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาท เริ่มประมูลเวลา 10.15 น. และจบลงเวลา 10.21 น. ด้วยการเคาะเพียง 1 ครั้งเช่นกันที่ราคา 417 ล้านบาท
ประมูลชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) โคจรอยู่แถบแปซิฟิก บริการที่สามารถให้บริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท เหมาะสำหรับสำหรับให้บริการ Broadcast ซึ่งจบในเวลา 10.46 นาที ผลปรากฎว่าไม่มีเอกชนรายใดยื่นเคาะราคาเลยทำให้ชุดดังกล่าวขายไม่ออก โดยระบบขึ้นว่า unsold
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, มติชน