หลังจากมีการประกาศชื่อใหม่หลังการควบรวมของทรู-ดีแทค เป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นข้อกังขาคือ นี่คือควบรวมหรือการซื้อกิจการ เพราะเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนชื่อบริษัทไปเลย และเรื่องราคาแพคเกจจะกระทบผู้บริโภคหรือไม่
หลังจากการควบรวม ทั้งแบรนด์ดีแทคและทรูจะยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป
ความน่าสนใจของประโยคนี้ จากแถลงการณ์ที่ทั้งสองค่ายส่งประกาศแก่สื่อมวลชนนั้น อาจจะเป็นการบอกโดยนัยว่า เราจะยังเห็นแบรนด์ ดีแทค และ ทรู 5G อยู่ในตลาด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า
เราจะยังเห็นแบรนด์ เอไอเอส - ทรู - ดีแทค ในสื่อโฆษณาต่างๆ ในสื่อหลักและสื่อโซเชียล (แม้หลังบ้านจะรวมกันไปแล้ว) จากเอกสารประกาศยังบอกด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่ จะแบ่งกันประมาณร้อยละ 30 อย่างเท่าเทียม
แต่ความสนใจคือ ตัวแทนจากทรูและดีแทค ที่จะขึ้นนั่งเป็นบอร์ดบริหาร คือ นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชารัด เมห์โรทรา ได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ส่วนนายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่ ก็ได้แต่คิดและสงสัยว่า ทำไมนายชารัด ถึงไม่ได้ขึ้นเป็นประธานแทน ทั้งที่ประวัติโชกโชนในการบริหารองค์กรระดับโลกมาก่อน แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเงินใครใหญ่กว่าฝั่งนั้นก็ย่อมได้นั่งสูงกว่า
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
ประวัติของทีมผู้บริหารชุดใหม่
มาลองดูประวัติของ (ว่าที่) ซีอีโอและรองซีอีโอของ ทรู คอร์ปอเรชั่น กันบ้าง สำหรับ นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช อายุ 47 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและวิศวกรรมไฟฟ้าจากสถาบันโพลิเทคนิคเรนซีเลียร์ สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจบริการของกลุ่มทรูมาตลอด 20 ปี
เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ดทรู เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ (ร่วม) กลุ่มทรูฯ ร่วมกับ นายธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ และ นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ โดยดูแลธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจมีเดีย ระบบงานปฎิบัติการและเครือข่าย งานบริหารจัดการระดับภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงงานบริการลูกค้า
ส่วน นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค จบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในระดับปริญญาตรีจาก Pune University และปริญญาโทในสาขาการจัดการด้านการตลาด ร่วมงานกับทางเทเลนอร์ ตั้งแต่ปี 2551 โดยรับตำแหน่งสำคัญในระดับบริหารในหลายประเทศทั่วเอเชีย
ซึ่งรวมถึงการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์อินเดีย และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของเทเลนอร์เมียนมาร์ ก่อนมานั่งตำแหน่งใหญ่ในไทย
นอกจากนี้ นายชารัด ยังเคยดูแลสายงานด้านการกระจายสินค้าในตลาดทั่วเอเชียและพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งก่อนที่จะมาร่วมงานกับเทเลนอร์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทอีริคสัน แอร์เซล บีพีแอลเทเลคอมในอินเดียอีกด้วย
ส่วนในกลุ่มการเงิน จะมี นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ของ ดีแทค มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบาร์ตี แอร์เทล (Bharti Airtel) และเคยดำรงตำแหน่ง CFO ในบริษัท ดิจิ ประเทศมาเลเซีย, เทเลนอร์ ฮังการี และเทเลนอร์ อินเดีย
ก่อนเข้าร่วมในอุตสาหกรรมดังกล่าว นายนกุล มีประสบการณ์ด้านที่ปรึกษาจาก เอินส์ท แอนด์ ยัง (Ernst & Young) และ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (PricewaterhouseCoopers) ทั้งนี้ เขาเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และจบปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดลี อินเดียด้วย
ส่วนนางยุภา ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงาน แต่คาดว่าจะเป็นผู้บริหารหลักในกลุ่มการเงินของทรูมาอย่างยาวนาน
สัดส่วนหุ้นที่จะปรับเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ทุนของบริษัทใหม่ 138,208,403,204 บาท เท่ากับ ทุนชําระแล้วทั้งหมดของ TRUE และ DTAC รวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญของบริษัทใหม่จํานวน 34,552,100,801 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท
ทั้งนี้ บริษัทใหม่ จะมีการจัดสรรหุ้นให้ผู้ถือหุ้น True 5G และ Dtac ในอัตราส่วน
นอกจากนี้ ยังมีหลายสื่อได้คำนวณส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจโทรคมนาคม ที่ปรับตัวหลังการควบรวมกิจการ โดยคำนวณจากจำนวนหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ใน ไตรมาสที่ 4/2563 พบว่า
ซึ่งหลังการควบรวมจะสลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทนเอไอเอส ทันที เพราะค่ายอื่นๆ รวมกันยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% เท่านั้น
สิ่งที่หลายคนกังวลว่าหลังมีการควบรวมแล้ว ธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ช่วงตุลาคม 2565 ที่มีการหารือไปก่อนหน้านี้ ที่ทาง Workpoint Today สรุปเงื่อนไขการประชุมหารือของทั้งสองค่ายกับทาง กสทช. ก่อนการประกาศควบรวมอย่างเป็นทางการนั้น พบว่า ลูกค้าจะไม่ต้องทำเรื่องย้ายค่าย หรือเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วง 3 ปี หลังจากควบรวม ตอนนี้สิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงคือ ชื่อบริษัท
แพ็กเกจราคาที่ผู้บริโภคต้องลุ้น
อัตราค่าบริการ คือสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนกังวลว่าจะหวยออกมาในรูปแบบไหน เพราะเมื่อรวมกันแล้ว "ตัวเลือก" ในตลาดที่มีน้อยลง จะทำให้ราคาปรับสูงขึ้นหรือไม่
แม้ว่าทาง กสทช. จะกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย โดยคิดค่าบริการลดลงเฉลี่ย 12% และต้องมีการคิดค่าบริการผ่านวิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละแคมเปญ ซึ่งค่าบริการใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมใน 90 วัน
เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนักวิเคราะห์ต่างก็มองว่า มีความไม่แน่นอน เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ค่ายมือถือไม่ต้องแข่งกันหั่นราคาลงมากเพื่อแย่งลูกค้าแบบในอดีต สะท้อนว่าผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายค่ามือถือแพงขึ้น และจากประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายของทุกคนย่อมทราบดีว่า แพ็กเกจราคาค่าบริการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี หากอ้างอิงจากราคาแพ็กเกจที่พ่วงมากับการซื้อมือถือใหม่
ซึ่งแพ็กเกจรายเดือน จะราคาถูกที่สุดเริ่มต้นที่ 299 - 2,199 บาท กันเลย ยังไม่รวมแพ็กเกจเสริมซื้อแต่อินเทอร์เน็ต หรือซื้อแพ็กพิเศษเพื่อใช้บริการเสริมบางอย่าง
ต่อไปผู้บริโภคจะใช้มุก "ย้ายค่าย" เพื่อขอแพ็กเกจพิเศษไม่ได้แล้ว เนื่องจากตัวเลือกมีเหลือเพียงแค่ 2 ราย จะย้ายไปค่ายไหนก็ต้องยอมรับสภาพในเรื่องแพ็กเกจ ราคาที่อาจจะไม่ดึงดูดแบบรายบุคคลเช่นเดิม
ส่วนเรื่องของคุณภาพสัญญาณนั้น อาจจะเป็นข้อได้เปรียบของผู้บริโภค เพราะดีแทคและทรูต่างก็มีความแข็งแรงในเขตพื้นที่ของตัวเอง (ทรูแข็งแรงในพื้นที่กรุงเทพ ส่วนดีแทคก็แข็งแรงในพื้นที่ต่างจังหวัด) อาจจะช่วยเสริมเรื่องการใช้งานเครือข่ายให้ดีขึ้น
เพราะตอนนี้ทรูมีเครือข่าย 5G ครอบคลุม 80% ของประชากรส่วน ดีแทค ก็มีสัญญาณครอบคลุมทั้งประเทศ และเมื่อรวมกันจะมีจุดไวไฟเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นแห่ง
ปัญหาใหญ่ที่ทั้งสองค่ายต้องเร่งปรับปรุง คือเรื่องของศูนย์บริการ จำนวนคอลล์เซ็นเตอร์และพนักงานในศูนย์บริการที่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่า "ไม่น่ารัก" เท่าอีกค่าย
ทางทีมบริหารอาจจะต้องเร่งพัฒนาพนักงานให้มีใจรักบริการ เทรนนิ่งเรื่องคุณภาพ คำพูด และความใส่ใจของพนักงานที่มีต่อลูกค้า ทั้งระบบคอลล์เซ็นเตอร์ที่ลูกค้าโทรเข้าไปหรือลูกค้าโทรหา ก็ต้องปรับจูน "ทัศนคติ" ให้ลูกค้ารัก มากกว่า "เรียกแขก" ให้ลูกค้าร้องเรียน เพื่อสร้างภาพจำที่ดีให้ผู้บริโภคอยากใช้เครือข่ายของตนเองให้เยอะขึ้น
ที่มา : The Matter, Brandbuffet, Thairath, WorkpointToday, BBC