“ลันตา LANTA” Supercomputer ของไทยที่มีขีดความสามารถในการคำนวณ 8 ล้านล้านครั้งต่อวินาที ถูกจัดเป็นอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน การมีอยู่ของ LANTA จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
เมื่อปลายปี 2565 ข่าวการเปิดตัว ChatGPT ของบริษัท OpenAI เขย่าวงการ AI ของโลก เบื้องลึกเบื้องหลังคือการฝึกฝน AI ด้วยคลังข้อความขนาดมหึมา ประเมินได้ว่าใช้ข้อความบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในระดับหลาย Giga words ช่วยให้ AI ตัวนี้มีความรู้กว้างขวางและสามารถทำนายข้อความถัดไปได้อย่างเหลือเชื่อขึ้นมาก การฝึกฝน AI ด้วยคลังข้อความมหึมานี้ไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้นเลย ถ้าไม่มี Supercomputer ระดับเทพ
Supercomputer ระดับโลก
จากการจัดลำดับความสามารถของ Supercomputer โดยเว็บไซต์ top500 ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 Supercomputer อันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ Oak Ridge National Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกา USA ชื่อเครื่อง “Frontier” โดยมีความสามารถในการคำนวณได้เร็วถึง 1,102 ล้านล้านครั้งต่อวินาที อันดับ 2 เป็นของ Riken Center of Computational Science ประเทศญี่ปุ่น ชื่อเครื่อง “Fugaku” ด้วยความเร็วการคำนวณระดับ 442 ล้านล้านครั้งต่อวินาที และลำดับ 3 คือเครื่อง “LUMI” ของ European High-Performance Computing Joint Undertaking (EuroHPC) ในประเทศฟินแลนด์ที่ความเร็ว 309 ล้านล้านครั้งต่อวินาที
ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ในการติดตั้งระบบ Supercomputer ขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งเมื่อสิ้นปี 2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ก็ได้ติดตั้งเครื่อง “ลันตา LANTA” สำเร็จ ทดสอบความเร็วการคำนวณได้ที่ 8 ล้านล้านครั้งต่อวินาที ถูกจัดเป็นอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน นำหน้าเครื่อง “ASPIRE 2A” ของ National Supercomputing Center ของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 167 ของโลก
ความเร็วของ Supercomputer ในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่นับเป็นล้านล้านครั้งต่อวินาที อาจจะไม่ค่อยเข้าใจได้ง่ายนัก ลองเปลี่ยนเป็นให้คอมพิวเตอร์ตรวจจับใบหน้าคนจำนวน 10 ล้านภาพ จากการทดสอบพบว่า คอมพิวเตอร์เดสท็อปปัจจุบันใช้เวลาตรวจสอบนาน 28 ชั่วโมง ในขณะที่ระบบ LANTA ของประเทศไทยนั้นใช้เวลาในการตรวจจับเพียง 1 วินาทีเท่านั้น!
สร้างเศรษฐกิจจากการมี Supercomputer
Supercomputer ถูกใช้ในหลายเป้าหมาย ที่นิยมที่สุดคือใช้ในการทดสอบเพื่อหาวิธีการผลิตใหม่ (Creating new approach) ตามมาด้วยการทดสอบสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น (Better products) และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ (Scientific breakthrough) หากมองแยกตามกลุ่มธุรกิจ จะพบว่า Supercomputer สร้างประโยชน์ต่อภาคขนส่ง (Transportation) มากที่สุดด้วยมูลค่าสูงถึง USD 1,800 ต่อการลงทุนใน Supercomputer USD 1 ตามมาด้วยภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคการเงิน ตามลำดับ
ตัวอย่างภาคการขนส่งที่ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดจากการใช้ Supercomputer นั้น เกิดจากการเดินทางในปัจจุบันที่อาศัย GIS (Geographical Information System) แนะนำการเดินทาง หรือก็คือ Google Map ที่เราๆ ท่านๆ ใช้ในการนำทางอยู่นั่นแหละครับ นอกจากระบบแผนที่แล้ว Supercomputer ยังใช้ในการวิจัยพัฒนายานยนต์อัจฉริยะที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวันทั้งกลุ่ม Autonomous vehicle (AV) และ Avaition อย่าง Drone รวมไปถึงการสร้างระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียพลังงานและลดโลกร้อน ล้วนแต่อาศัยการคำนวณบนข้อมูลมหาศาล
ประเทศไทยจะใช้ Supercomputer ทำอะไร
ก่อนที่ประเทศไทยจะมี Supercomputer ชุดใหญ่อย่าง “LANTA” สวทช. เคยมี Supercomputer ชุดเล็กเปิดให้ใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาในวงจำกัด ซึ่งพบว่า Supercomputer ชุดเล็กนั้นถูกใช้มากที่สุดในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ตามมาด้วยงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีวัสดุใหม่ๆ ตามลำดับ “LANTA” ที่จะเปิดให้บริการต้นปี 2566 มีแผนนำร่องใน 3 กลุ่มโครงการและในแต่ละกลุ่ม เห็นรายชื่อโครงการแล้วล้วนน่าสนใจ จุดประกายให้เห็นถึงประโยชน์ของ Supercomputer อย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างบางโครงการในแต่ละกลุ่มครับ
1. กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (Frontier) – ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งเป้าใช้ประกอบการพัฒนายา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีค้นคว้าวัสดุสำหรับใช้สร้างแบตเตอรี
2. กลุ่มเทคโนโลยี AI - บริษัท BOTNOI ตั้งใจพัฒนาแชตบอตสำหรับให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา VISTEC หรือมหาวิทยาลัยวิทยสิริเมธีกับงานวิจัยเพื่อหาทางลดขนาดคลังข้อมูลที่ต้องใช้ฝึกฝน AI และเนคเทค สวทช. เองที่ตั้งใจสร้าง pretrained model สำหรับการประมวลผลข้อมูลมัลติมีเดียขนาดใหญ่
3. กลุ่มวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วน – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสนองานวิจัยด้านการวิเคราะห์โรคกลุ่ม NCD เพื่อสร้างชุดตรวจแบบพกพา และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพาที่สนใจการสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลที่มีความละเอียดไม่สูง
จากตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Supercomputer นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถวิจัยค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาโจทย์สำคัญๆ ของโลกแล้ว การใช้ Supercomputer ที่ลงทุนในประเทศเอง ก็ยังช่วยให้เกิดการสั่งสมข้อมูลขนาดใหญ่ให้อยู่ในเครือข่ายวิจัยของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสในการยกระดับขีดความสามารถของนักวิจัย นักพัฒนา และนวัตกรของเราให้สูงขึ้น ทัดเทียมกับต่างชาติได้
อ้างอิง
Top500 และ thaisc (NSTDA Supercomputer Center)