ชวนทำความรู้จักเจ้าของฝีมือถ่ายรูป สถานีกลางบางซื่อ หลังกลายเป็นประเด็นเมื่อ รฟท. อนุมัติงบ 33 ล้าน เปลี่ยนป้ายเป็น สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีชาวเน็ตฯ นำรูปดังกล่าวไปเปิดให้เปลี่ยนชื่อสถานีได้ตามใจชอบ และรับโดเนท
สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีขนส่งที่จะเข้ามาเป็นสถานีหลักสำหรับขนส่งทางรางและทางถนน แทนที่สถานีเดิมอย่าง สถานีหัวลำโพง และสถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งเมื่อช่วงวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ตั้งเว็บไซต์ให้ผู้คนเข้าไปเปลี่ยนป้ายเป็นชื่อต่าง ๆ
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นเมื่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติการจัดทำป้ายสถานีกลางบางซื่อใหม่ด้วยงบ 33 ล้านบาท เป็นสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์
โดยผู้ถ่ายภาพดังกล่าวคือ มนู มนูกุลกิจ หรือที่รู้จักในชื่อ Manoo Studio ซึ่งในเว็บไซต์ เขียนแนะนำตัวเองว่า เป็นช่างภาพที่เชี่ยวชาญงานถ่ายภาพที่อยู่อาศัยและโรงแรม เขาได้รับการพูดถึงในแง่ความคิดสร้างสรรค์ ในการรังสรรค์ภาพให้สวยงานหลังจากการถ่ายให้สวยงามและสมจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาเขาก็ยังเชี่ยวชาญในด้านการถ่ายภาพปกนิตยสาร และภาพถ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์อื่น ๆ อีกด้วย
ภายในเว็บไซต์มีทั้งภาพที่ถ่ายในหนึ่งในห้องพักที่ 98 Wireless ซึ่งในปี 2560 มีการรายงานว่าราคาขาย ยูติตละ 70-250 ล้านบาท และห้องที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ 650 ล้านบาท และยังมี Vie Hotel , S31 , Hilton Pattaya , อาคาร ปตท. เป็นต้น ถือว่าผลงานของ Manoo Studio เป็นหนึ่งช่างภาพที่ถ่ายภาพได้อย่างเป็นเอกลักษณ์และมีความสวยงามรายหนึ่งของประเทศไทย
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
มีคนดูดไปใช้ทำเป็นมีม เปิดรับบริจาค ผิดลิขสิทธิ์ไหม
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้าไปเปลี่ยน ป้ายสถานีกลางบางซื่อ จนกลายเป็นกระแสทางสังคม สร้างความสนุกสนานกันอย่างมาก จนกลายเป็น มีม (Meme) หรือมุกตลกบนโลกอินเทอร์เน็ต
แต่ประเด็นคือ มีการเปิดรับบริจาคภายในเว็บไซต์ด้วย ซึ่งด้านเจ้าของฝีมือการถ่ายภาพ มนู มนูกุลกิจ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และเปิดเป็นสาธารณะ ว่า "ฉันไม่เกี่ยว เขาเอาไปเอง"
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุว่า เนื่องจากภาพถ่ายสถานีกลางบางซื่อ ของ มนู มนูกุลกิจ เป็นภาพถ่ายเชิงพาณิชย์ (Commercial) จึงขึ้นอยู่กับสัญญาว่าผู้ว่าจ้าง ว่า ให้ลิขสิทธิ์เป็นของใคร หาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ว่าจ้างแล้วระบุในสัญญาว่าลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของการรถไฟฯ ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็จำเป็นที่จะต้องให้การรถไฟฯ เป็นผู้ฟ้อง แต่ถ้าเป็นเจ้าของร่วมก็มีโอกาสดำเนินการฟ้องด้วยตัวเองได้
ส่วนการที่ Manoo Studio จะนำมาโพสต์ก็ต้องย้อนไปดูในสัญญาเช่นกันว่าอนุญาตให้เผยแพร่ชื่อผู้ถามหรือไม่ซึ่งหากผู้ถ่ายไม่ได้นำไปสร้างรายได้ต่อเช่นขายบนเว็บไซต์สต๊อกขายภาพก็มีโอกาสถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้น้อย
ซึ่งสำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ มีหลักการจำง่าย ๆ คือ ห้ามดัดแปลง ทำซ้ำ และเผยแพร่ต่อ ซึ่งหากนำไปทำให้มีการจูงใจเพื่อให้เกิดรายได้โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาต ก็ยิ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นไปอีก