ชัชชาติ มอง Smart City เมืองที่อัจฉริยะ คนต้องอัจฉริยะด้วย ชี้จะแก้ปัญหาเมืองได้ ต้องยอมรับปัญหาก่อน พบคนไม่ไว้ใจรัฐ ดังนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามาทำให้โปร่งใส-คนวางใจ ด้าน AIS เสริม ไม่ใช่แค่ติด iOT เยอะ ๆ แต่ต้องทำงานร่วมกันด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุภายในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model จัดโดย โพสต์ทูเดย์ ในฐานะสื่อใหม่ภายใต้ เนชั่น กรุ๊ป และเนชั่นทีวี ว่า มีคนเคยนิยามให้ผมฟังว่าเมืองอัจฉริยะ คือ "เมืองที่เป็นตลาดแรงงาน" ถ้าไม่มีงานคนเก่ง ๆ ก็ไม่เข้ามาอยู่ ซึ่งการที่จะดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาก็จำเป็นที่จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหัวใจหลักของการทำให้เมืองอัจฉริยะ คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เมืองทำหน้าที่ของเมืองทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมืองอัจฉริยะต้องประกอบด้วย 3 อย่าง
ชัชชาติ มองว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่คนในเมืองไม่สามารถที่จะตอบโจทย์การใช้งานเทคโนโลยีได้ เทคโนโลยีก็ไม่มีประโยชน์
แค่สีก็ทำให้เมืองฉลาดได้
หนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐ คือ กรุงนิวยอร์ก เมืองที่มีถนนกว่า 6,000 ไมล์ หนึ่งในทีมผู้ว่าการเมือง ระบุว่า นิวยอร์กมีแค่ถนนกับสี การจะทำให้เมืองอัจฉริยะได้ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่เมืองนิวยอร์กทำ คือ การนำเพียงแสีมาทาบนถนนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ต่าง ๆ ให้พื้นที่ถนนสามารถใช้ประโยชน์นอกเหนือจากรถยนต์ได้ แค่นี้เมืองก็อัจฉริยะแล้ว
"ยิ่งทำถนนรถยิ่งติด ซึ่งสิ่งที่ผู้ว่าการหลาย ๆ เมืองทำคือการสร้างพื้นที่สีเขียวและสร้างพื้นที่ใช้สอยภายในเมืองจากถนนและพื้นที่ที่เมืองมี"
ชัชชาติ มองว่า เมืองที่อัจฉริยะในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเสมอไป แต่เพียงแค่ย้อนกลับมาในส่วนของวิธีคิดและการสร้างการรับรู้ภายในเมือง โดยเน้นเอาคนภายในเมืองเป็นหลัก ส่วนเมืองที่ใช้เทคโนโลยีนำคนก็จะถูกจำกัด โดยผู้ขายที่จะมาบังคับทางอ้อมให้เราซื้ออุปกรณ์เยอะ ๆ เพื่อทำให้เมืองฉลาด
"แต่ถ้าย้อนกลับไปให้ผู้คนสมาร์ทมากขึ้นเมืองก็จะสมาร์ทตามไปด้วย"
อ่านเรืองราวที่เกี่ยวข้อง
นครสวรรค์ก้าวสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ Smart City ด้วยนวัตกรรมพลังงานสะอาด
ส่องแผนพัฒนา Bangkok Smart City กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)
5 อันดับ Smart City 2022 เอเชียเข้าวิน 3 เมือง นำขบวนด้วยเซี่ยงไฮ้ ตามด้วยโซล
"หนึ่งในหนังสือที่ผมชอบมาก คือ The Smart City ของ Ben Green ซึ่งเขาเขียนไว้ว่า เมืองที่ดีไม่ใช่เมืองที่ฉลาดแต่ต้องเป็นเมืองที่ฉลาดเพียงพอ คำพูดหนึ่งที่เขาระบุไว้ คือ เทคโนโลยีไม่สามารถที่จะตั้งคำถามหรือหาคำตอบได้ ดังนั้นคนจะต้องเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบคำถามที่ตนเองหาอยู่" ชัชชาติ มอง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าต่อว่า ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร เราจำเป็นที่จะต้องมีแว่นที่มองได้หลากหลายสี เปรียบเสมือนกับการแก้ไขปัญหาที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขเพียงแค่ด้านเดียวไม่ได้ เช่นการแก้ไขปัญหาด้านอาชญากรรม การตั้งวงกล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียวก็จะแก้ปัญหาเพียงแค่ด้านเดียวแต่ถ้าหากเรามองด้วยว่าหลากหลายสีแก้ไขปัญหาอื่นๆไปพร้อมกันได้
4 เดือน ชัชชาติ มองเห็นปัญหาอะไรของกรุงเทพบ้าง ?
ชัชชาติ กล่าวว่า"กรุงเทพมหานคร ตลอด 4 เดือนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ"
อยากให้เมืองฉลาด ต้องยอมรับปัญหาก่อน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าต่อว่า การจะทำให้เมืองอัจฉริยะต้องเริ่มจากการยอมรับปัญหาก่อน กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ผู้คนเดินทางมาเยือนมากที่สุด แต่ดันตกอยู่ในอันดับที่ 98 ในอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดทั่วโลก
ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องทำให้อันดับ 98 ของกรุงเทพมหานครขยับขึ้นมาให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็น 1 ใน 50 ของเมืองน่าอยู่ทั่วโลกให้ได้
ซึ่งผลงานที่ผ่านมา นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา คือ Traffy Foundue แพลตฟอร์มการร้องเรียนปัญหาของเมือง ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาเท่านั้น ทุกวันนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทานท่วงที โดยที่ผู้ว่าราชการไม่จำเป็นต้องสั่ง และข้อมูลการร้องเรียนทั้งหมดถูกแสดงออกมาก็กลายเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับข้าราชการและสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนเพราะทุกการร้องเรียนไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่า
"สุดท้ายผมมองว่าเมืองอัจฉริยะจะต้องเป็นเมืองที่ทำให้ผู้คนมีความคิดที่แตกต่างและมีการยอมรับในการพัฒนาซึ่งต่อให้มีเมืองที่ฉลาดแต่ผู้คนไม่คิดอย่างแตกต่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังจากผู้คนก็ไม่เปลี่ยน เพราะเมืองคือผู้คนถ้าคนไม่ฉลาดเมืองก็ไม่ฉลาด" ชัชชาติ กล่าว
เมืองที่ฉลาด ไม่ใช่การติดเซ็นเซอร์เยอะ ๆ
นายวสิษฐ์ วัฒนทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศไทยของ AIS ระบุว่า บางคนเข้าใจว่าการทำให้เมืองอัจฉริยะเพียงแค่นั้นอุปกรณ์ iOT ไปติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ให้มาก ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในสังคมมากกว่าแค่การติดตังอุปกรณ์และอุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานร่วมกัน
ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทดลองใช้จริงแล้ว คือรถ 6 ล้อ ที่มีเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ คอยปฐมพยาบาลและทำการรักษาเบื้องต้น ให้กับผู้ป่วยในระหว่างนำส่งไปยังโรงพยาบาล
"อุปกรณ์ iOT และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ถือเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของเมืองอัจฉริยะดังนั้นคนจึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งการทำให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาในการสร้างส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนถึงจะทำให้เมืองกลายเป็น smart city ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้" นายวสิษฐ์ กล่าว
ในฐานะสื่อ ต้องเป็นกระบอกเสียงให้รัฐเริ่มทำให้เมืองฉลาด
ด้าน นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มองว่า เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะแล้ว ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบุว่า ก่อนที่จะทำให้เมืองอัจฉริยะได้ก็จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ชีวิตของประชาชนปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดี และบริหารงานอย่างโปร่งใส
การที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ชาติออกมา นั่นแปลว่าปัจจุบันเราจะต้องเห็นหัวเมืองต่าง ๆ ของประเทศไทยก้าวเข้าเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว แต่ปัจจุบันเราก็ยังคงไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นในฐานะสื่อมวลชนก็จำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น นายสมชาย มีเสน กล่าว
การที่เมืองอัจฉริยะมากขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น