svasdssvasds

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม Angel Fund - Startup Connect ปี 7 กระตุ้นเศรษฐกิจไทย 420 ลบ.

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม Angel Fund - Startup Connect ปี 7 กระตุ้นเศรษฐกิจไทย 420 ลบ.

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จดันสตาร์ทอัพไทย ปี 2565 จากโครงการ Angel Fund (แองเจิ้ล ฟันด์) โดยสามารถดันสตาร์ทอัพไทยกว่า 71 ซึ่งเป็นธุรกิจหลากหลายสาขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดการตลาด สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 70 ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จดันสตาร์ทอัพไทย ปี 2565 กระตุ้นเศรษฐกิจไทยกว่า 420 ล้านบาท จากโครงการ Angel Fund (แองเจิ้ล ฟันด์) สามารถดันสตาร์ทอัพไทย กว่า 71 ธุรกิจในหลากหลายสาขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดการตลาด สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 70 ล้านบาท ควบคู่โครงการ Startup Connect (สตาร์ทอัพ คอนเน็กต์) เชื่อมโยงเครือข่ายตลาดและแหล่งเงินทุนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 350 ล้านบาท แย้มปี 2566 ผนึกทุกฝ่ายส่งเสริมเข้มข้นขึ้น

เป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยแข่งขันตลาดโลก ดันระบบเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยตามนโยบายของรัฐบาลว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินงานผ่าน "โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่" หรือ Angel Fund โดยร่วมมือกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่า และ "โครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น" หรือ Startup Connect มุ่งพัฒนาทักษะการดำเนินธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกกลุ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาดอย่างเหมาะสม ล่าสุดผลการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการในปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศรวมถึง 420 ล้านบาท

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม Angel Fund - Startup Connect ปี 7 กระตุ้นเศรษฐกิจไทย 420 ลบ.

นายจุลพงษ์ กล่าวเสริมว่า ในภาพรวมดีพร้อมได้ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นจำนวน 44 ธุรกิจ จำนวนนี้ มี 6 ธุรกิจได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Angel Fund เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่และจ้างงานในประเทศ ไม่น้อยกว่า 130 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวมไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท

ขณะที่โครงการ Startup Connect ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรม Co-creation การสร้างนวัตกรรมร่วม หรือการเปิดช่องทางให้สตาร์ทอัพ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่และทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชันส์ในตลาดจริง (Proof of Concept: POC) อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท พร้อมเชื่อมโยงไปสู่แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ (VC/CVC) 115 ล้านบาท รวมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท 

"ผลการดำเนินงานยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพในหลากหลายสาขาที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับ “เทคโนโลยีเชิงลึก” (Deep Technology) ทั้ง 12 ด้าน อาทิ การแพทย์ครบวงจร การเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพแพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ เกิดเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย"

นวัตกรรมที่กล่าวถึง อาทิ

  • EMMA เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีดอัจฉริยะ สามารถวิเคราะห์และจำแนกเคสที่ผิดปกติของโรคหัวใจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ ราคาเข้าถึงได้
  • Planet C แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบเรียลไทม์สำหรับอุตสาหกรรม
  • Electronic Nose เครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
  • MUU นมวัวที่ผลิตโดยไม่ใช้วัว ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของโลก
  • YABEZ Sorderm Cream/Lotion ยารักษาผิวหนังอักเสบ Maxflow เครื่องปรับคุณภาพน้ำด้วยสนามแม่เหล็กถาวร สำหรับการเพาะปลูก
  • UPCYDE leather หนังเทียมจากขยะทางการเกษตร
  • iRon-X ชุดฝึกแขนกลหุ่นยนต์
  • OXYMILK เครื่องนวดกระตุ้นน้ำนมคุณแม่ในช่วงให้นมลูก
  • Renewsi ซิลิกอนเกรดแบตเตอรี่จากขยะโซลาร์เซลล์ สำหรับทำเป็นขั้วไฟฟ้าในเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยานยนต์ไฟฟ้า

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 ดีพร้อมจะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเข้มข้น จะมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายตลาดภาครัฐควบคู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแต้มต่อสำคัญให้สตาร์ทอัพนำผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าไปร่วมทดสอบ (Prove of concept: POC) หรือทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น โดยมุ่งเป้าสนับสนุนเทคโนโลยีด้าน GovTech (Government Technology) ที่ช่วยให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง IndustryTech เทคโนโลยีและโซลูชันที่ถูกคิดค้นและพัฒนาเพื่อกระบวนการทางอุตสาหกรรมและเป็นวิศวกรรมขั้นสูงที่แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมตรงจุด ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป

นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทฯ ยังคงให้ความร่วมมือกับดีพร้อมด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพที่คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่าง ๆ โดยบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจากโครงการตลอด 7 ปี เพราะสตาร์ทอัพเหล่านี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น ช่วยดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จึงต้องการนวัตกรรมมาตอบโจทย์อย่างไม่หยุดนิ่ง 

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 ต่อ 4 และติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th

related