SHORT CUT
"การเบิร์นหูฟัง" นักดนตรีทั้งหลายจะรู้จักกันดี แต่คนทั่วไปอย่างเราๆ พอได้ยินคำนี้เชื่อว่าหลายคนก็ต้องเอ๊ะ มันคืออะไร ช่วยเรื่องอะไร เดี๋ ยววันนี้ Spring จะพามาดูว่า การเบิร์นหูฟังนั้นคืออะไร ทำแล้วดีขึ้นจริงมั้ย มาไขข้อสงสัยไปกับบทความนี้กัน
การเบิร์นหูฟัง Burn Headphone เป็นศัพท์ที่นักเล่นหูฟังหรือนักฟังเพลงพูดถึงกันบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาที่ซื้อหูฟังตัวใหม่มา คนที่เล่นในระดับมือใหม่บางคนอาจฟังแล้วไม่เข้าใจ หูฟัง ก็เปรียบเสมือนกับลำโพงตัวเล็กๆที่เอาไว้ข้างใบหู เมื่อซื้อมาใช้ใหม่ๆแบบแกะกล่องหูฟังในบางรุ่นเสียงอาจยังไม่เข้าที่ตามที่มันควรจะเป็น ทำให้เหล่านักเล่นหูฟังต้องเบิร์นกันก่อนฟังอย่างจริงจัง ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คงเปรียบได้กับการใช้งานรถยนต์ใหม่ ที่ต้องมีช่วงเวลาการรันอินช่วงหนึ่งนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเบิร์นก่อนฟังเท่านั้น หากไม่ได้จริงจังมากนักก็ฟังไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไปเบิร์น
การเบิร์นหูฟังนั้น ปกติแล้วสามารถทำได้ง่ายๆโดยเปิดเพลงทั่วๆไป ฟังไปเรื่อยๆ โดยใช้ระดับความดังปกติหรือน้อยกว่าเท่าที่เราฟังเพลง ให้ดีควรเปิดเสียงเบาลงอีกเล็กน้อยจากปกติ พักบ้างก็ได้ถ้าอยากพัก โดยนับชั่วโมงให้ได้สัก 10-50 ชั่วโมงขึ้นไปก็น่าจะเห็นผลแล้ว หูฟังบางตัวอาจเห็นผลที่ค่อนข้างชัดเจนเร็วหรือช้ากว่านี้ได้
แต่ถ้าคุณเป็นนักเล่นหูฟังหรือนักฟังเพลงที่มีประสบการณ์ยาวนาน แน่นอนว่าคุณต้องการรีดคุณภาพเสียงออกมาให้ได้สูงที่สุด นักเล่นกลุ่มนี้มักจะพิถิพิถันในการเลือกไฟล์เพลงสำหรับการเบิร์นหูฟังเป็นพิเศษ โดยจะเลือกไฟล์เพลงความละเอียดสูงระดับ lossless เช่นไฟล์เพลงนามสกุล flac หรือ wav โดยเชื่อว่าการเบิร์นโดยใช้ไฟล์ที่ไม่ถูกบีบอัด จะสามารถให้ย่านความถี่เสียงสำหรับกระตุ้นไดอะแฟรมได้กว้างกว่า และเห็นผลชัดกว่าในส่วนของรายละเอียดของดนตรีที่มีความถี่สูงๆ
ทาง Proplugin ก็ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จริง ๆ แล้วการเบิร์นคือ การทำให้อุปกรณ์นั้น ๆ เข้าที่พร้อมใช้งาน และไม่ได้มีเฉพาะแค่ในวงการเครื่องเสียง อย่างวงการรถยนต์เองก็มีการ Run-In ที่เปรียบเสมือนการเบิร์นเช่นกัน ในส่วนของรถยนต์ที่มีการ Run-In ก็เพื่อต้องการให้ข้อต่อ ข้อเหวี่ยง และส่วนต่าง ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหว ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่ฝั่งของการฟังเพลง โดยเฉพาะพวกหูฟังนั้น ก็มีส่วนประกอบหลักที่ต้องเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ Driver
Driver โดยเฉพาะแบบ Dynamic จะมีส่วนเคลื่อนที่ ๆ สำคัญนั่นก็คือ Voice Coil และ Diaphragm เมื่อประกอบจากโรงงานใหม่ ๆ ความยืดหยุ่นของ Voice Coil และ Diaphragm จะยังทำได้ไม่เต็มที่ สังเกตได้ว่าหูฟังตัวไหนยังไม่ผ่านการเบิร์น อาจจะให้เสียงที่กระด้าง ปลายเสียงจะทอดตัวได้ไม่ดี มีอาการเบสบวม Voice Coil ไม่สามารถสั่นสะเทือนความถี่ได้ และ Diaphragm จะแข็งเกินไปไม่นิ่มนวล แต่ถ้าหูฟังได้ผ่านการเบิร์นแล้ว ความยืดหยุ่นของ Driver ก็จะดีขึ้น เสียงที่ออกมาก็จะดีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทาง Proplugin ก็ได้แนะนำว่าก่อนเริ่มใช้งานหูฟัง เบิร์นหูฟังกันก่อนจะดีกว่า โดยขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 100 ชม. เพื่อกันปัญหาความแตกต่างของวัสดุ และการเบิร์นส่วนใหญ่ควรจะเป็นการฟังเปิดแบบต่อเนื่องจะดีที่สุดนั่นเอง
สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะรับรู้และเป็นตัวชี้วัดได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้ใช้เอง เราจะสัมผัสได้ก่อนใครอย่างแน่นอนเพราะเราเป็นคนใช้ และหูฟังที่เลือกใช้มันจะมีเหตุผลว่าทำไมมันถึงแพงและทำไมมันถึงถูก หูฟังแต่ละแบรนด์มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ เสียงเบส แสียงนุ่มละมุม เน้นแตกต่างกัน ฉะนั้นการเบิร์นหูฟังก็อาจจะช่วยให้หูฟังที่คุณใช้อยู่ แสดงประสิทธิภาพออกมาอย่างสูงสุดก็ได้นะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง