SHORT CUT
“Next Door Catastrophe รู้ตัวอีกที วินาศสันตะโร”ในวันที่ เอไอ และมนุษย์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากคำบอกเล่าของ "สุกรี สินธุภิญโญ" และ "วิทย์ สิทธิเวคิน"
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตจุฬาฯ จาก 7 คณะ ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ รวมตัวกันในชื่อ Samyan Mustard ร่วมกันจัดงาน Next Door Catastrophe รู้ตัวอีกทีวินาศสันตะโร
ภายในงานมีการพูดถึง ความวินาศสันตะโรของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง มากกว่าโลกภายนอก และหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์กระทำลงไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ส่งล้วนส่งผลต่อมนุษย์โดยที่มนุษย์รู้ตัว แต่ไม่คาดคิด และอาจสายลงไปทำให้คนรอบข้าง สิ่งรอบข้างทั้งมีชิวิตและไม่มีชีวิตหายไป
SPRiNG พาไปชมเรื่องเด็ดๆ จากอาจารย์ สุกรี และ เฮียวิทย์ที่รวบรวมมาและจะเล่าให้ฟังไปพร้อมๆ กัน
ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามว่าต่อประเด็น เอไอ ว่า “ทำไมถึงคิดว่าเอไอถึงเหิมเกริมและหาญกล้า ขนาดคิดจะครองโลก เป็นมนุษย์หรือเปล่า ที่เอากิเลส ความทะยานอยากของตัวเองไปตั้งคำถามกับเอไอ
บทเรียนจากอดีตแสดงให้เห็นว่าความอยากของมนุษย์นี่แหละที่คอยสร้างปัญหาให้มนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งที่เอไอจะทำได้วันนี้ คงไม่ได้เป็นการทำร้ายพวกเราโดยตรง แต่กลายเป็นพวกเราเองต่างหาก ที่หลงลืมความรู้สึกของตัวเอง จนในที่สุดความเป็นตัวตนก็จะหายไป
ลองยกตัวอย่าง ถ้าวันหนึ่งเอไอทำงานได้ถึงระดับที่ทดแทนการทำงานของคน เด็กชายที่เคยสนุกกับการค้นหาเส้นทางบนแผนที่ เด็กคนนั้นไม่มีอยู่ในโลกที่มีเอไอช่วยนำทาง ผู้สูงอายุอาจไม่ต้องการลูกหลานดูแล เพราะหุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า พ่อที่เฝ้าถ่ายรูปลูกสาวอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเอไอสร้างภาพสวย ๆ ได้ง่ายกว่า
ถ้าวันนั้นมาถึง ความสัมพันธ์อย่างที่เราเป็นอยู่อาจจะหายไป เอไอจะมายึดครองเราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้มันอย่างไร เราต้องไม่ลืมความเป็นมนุษย์ ความรู้สึก และอารมณ์ของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า
“เอไอไม่เคยลุกขึ้นมาเข่นฆ่ามนุษยชาติ แต่เป็นเราเองหรือเปล่าที่ค่อยๆ ทำให้ตัวเราเองเลือนหายไป”
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พิธีกรและนักจัดรายการชื่อดัง ชี้ถึงภัยจากระบบเศรษฐกิจว่า ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่ล้วนมีสาเหตุมาจาก "สัญชาติญาณความโลภ" และ "ความคิดเข้าข้างตัวเอง" ของมนุษย์
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือวิกฤตฟองสบู่ญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดทุนพุ่งสูง ผู้คนต่างลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนเพื่อเก็งกำไร โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ผลคือ ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยและไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ถึงปัจจุบัน
หรือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เช่นกัน ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน เงินทุนไหลเข้าประเทศ ผู้คนกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนในหุ้นโดยไม่คิดถึงความเสี่ยง ประเทศไทยได้รับคำเตือนจาก IMF สามครั้ง แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เงินสำรองถูกใช้ไปในการ พยุงค่าเงินให้อยู่ในระดับ "ภาพลวงตา"
เมื่อถูกผลักเล็ก ๆ จากพ่อมดการเงิน Geroge Soros เศรษฐกิจไทยก็พังทลาย ไม่ต่างกัน สหรัฐฯ ประเทศที่มีระบบการเงินที่ซับซ้อน และ มีหลักการควบคุมที่น่าจะดีที่สุดในโลก เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มาจาก "สัญชาติญาณความโลภ" ธนาคารปล่อยกู้เงินอย่างง่ายดาย ผู้คนกู้เงินซื้อบ้านโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่อราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ผู้คนเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์พังทลาย และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก
“สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ ‘สัญชาติญาณความโลภ’ และ "การคิดเข้าข้างตัวเอง’ ของมนุษย์ ว่าจะสามารถเอาชนะคนอื่นได้ เอาชนะเทรนด์ได้ สิ่งนี้คือ เค้าลางแห่งความพินาศ ที่ทำให้โลกใบนี้ เกิดเหตุแบบนี้ ซ้ำแล้วและซ้ำอีก ไม่ต้องดูอื่นไกล ต้นตอวิกฤตทั้งหลาย อยู่ในตัวเรา ถ้ายังคิดว่าปัญหาอยู่ที่ปัจจัยภายนอก คงไม่ได้ไปไหน ต้องเริ่มจากตัวเอง”
โดย ดร.วิทย์ ยกตัวอย่างตัวละครโนบิตะจากเรื่องโดราเอม่อน ว่า
"โนบิตะนั้นคิดเสมอว่าโลกภายนอกทำร้ายตัวเอง ถึงแม้จะมีโดราเอม่อนที่มีของวิเศษคอยช่วยเหลือ แต่ตอนจบของทุกตอน ความวินาศสันตะโรก็เกิดขึ้นกับโนบิตะเสมอ เพราะเขานั้นทำร้ายตัวเอง"