SHORT CUT
รู้หรือไม่ว่า? ร่างกายเราสามารถทนอากาศร้อนได้ที่อุณหภูมิ 35 องศากระเปาะเปียก ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขอุณหภูมิที่ถูกประกาศในแต่ละวัน แต่ต้องคำนวณค่าความชื้นลงไปด้วย
หลายคนบ่นอุบว่าประเทศไทยตั้งอยู่ข้าง ๆ ดวงอาทิตย์หรือเปล่า ทำไมอากาศมันร้อนขนาดนี้ ประกอบกับตัวเลขอุณหภูมิของแต่ละจังหวัดที่ก็ร้อนจนน่าหวาดเสียว บางจังหวัดพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซียส หรือมากที่สุดคือชลบุรี ที่อากาศร้อนทะลุ 50 องศาเซลเซียสไปแล้ว
ซึ่งอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อโลกอย่างเป็นวงกว้าง อาทิ ไฟไหม้ป่า ทะเลระอุ อันตรายต่อสัตว์ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ จึงนำมาสู่หัวข้อที่จั่วไว้ด้านบน “ร่างกายมนุษย์ทนร้อนได้แค่ไหน” ในยุคที่เมืองไทยร้อนเหมือนซ้อมลงนรก
ปกติแล้วร่างกายของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ครั้นยามมีไข้สูงอุณหภูมิจะพุ่งไปถึง 38 – 39 องศาเซลเซียส ทว่า หากอุณหภูมิร่างกายพุ่งเกิน 40 องศาเซลเซียส จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “Hyperthermia” หรือมีไข้สูงสุด ซึ่งถือว่าอันตรายมาก
และหากเราปล่อยให้ร่างกายอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะตอบสนองอย่างทันควันจนรู้สึกได้เลย อาทิ เป็นลม ชีพจรเต้นเร็ว ระบบการทำงานของไต-หัวใจ-สมอง หรือพูดง่าย ๆ คือ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะรวนทันที
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า หลายจังหวัดอุณหภูมิพุ่งทะลุเกิน 40 องศาไปแล้ว คำถามคืออากาศร้อนเหมือนไฟเผาขนาดนี้ ร่างกายเราจะเกิดอาการที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่
คำตอบคืออุณหภูมิภายนอก-ในร่างกายไม่มีวันเท่ากัน เพราะร่างกายมีกลไกการระบายความร้อนผ่านทาง “เหงื่อ” เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้สูงเกินไปนั่นเอง
แต่มันมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้ร่างกายระบายเหงื่อหรือเปล่า คำตอบคือมี ร่างกายมนุษย์ทนอากาศร้อนได้แค่ 35 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิกระเปาะเปียก หรือ Wet-Bulb Temperature
ฟังดูแปลก ๆ อุณหภูมิกระเปาะเปียกคือการนำความชื้นในอากาศมาร่วมคำนวณอุณหภูมิด้วย ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขที่ออกมาจะไม่ตรงกับที่ถูกพยากรณ์อากาศคาดการณ์ไว้
ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส มีความชื้นในอากาศราว 30% (น้อย) อุณหภูมิกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ 30.5 องศาเซลเซียส ถือว่ายังไม่เป็นอันตราย
ขณะเดียวกัน จ.ศรีสะเกษ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นในอากาศราว 77% อุณหภูมิกระเปาะเปียกจะอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายแล้ว
สรุปสั้น ๆ คือ ร่างกายจะทนร้อนได้มากแค่ไหนนั้นเราต้องเอาค่าความชื้นมาเป็นหนึ่งในการคำนวณด้วย
คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีความชื้นในอากาศเท่าไร ปัจจุบันเราสามารถวัดความชื้นได้ด้วย 2 เครื่องมือได้แก่ ไฮโกรมิเตอร์แบบกระเปาะเปียกและแบบเส้นผม
เมื่อได้ค่าความชื้นในอากาศ สามารถนำอุณหภูมิที่หน่วยงานประกาศออกมาไปคำนวณได้ในเว็บไซต์ โดยเสิร์ชคำว่า “Wet Bulb Calculator” เลือกเอาเว็บที่ชอบได้เลย จากนั้นกรอกเลขอุณหภูมิกับค่าความชื้นลงไป
หากเกิน 35 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิกระเปาะเปียก นั่นคือ อันตราย! ฉะนั้น ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอันหฤโหดอย่างเป็นทางการแล้ว อย่าประมาทอากาศร้อนเด็ดขาด เพราะในยุคโลกเดือดอากาศร้อนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกเท่าตัว...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง