สวทช. ประกาศนโยบายใหม่ ‘สวทช. ยุค 6.0’ นำพลังวิจัย รับใช้สังคม ร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็งเพื่อนำงานวิจัยมาปรับใช้งานจริง
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเปิดนโยบายทิศทางการบริหาร ตั้งเป้าขับเคลื่อน สวทช. เป็นดั่ง “ขุมพลังหลักด้านการวิจัย” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรพัฒนา“ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม” ให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้งานจริง
เป็นการตอบโจทย์สำคัญของชาติ สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมหมู่มาก นำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน
ทั้งนี้ สวทช. เป็นหน่วยงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีบุคลากรที่เป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกมากกว่า 700 คน ถือว่ามากที่สุดในประเทศและมีความเชี่ยวชาญครอบคลุม 5 สาขาวิจัยหลัก
รากฐานสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร คือ การจัดกระบวนทัพนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญที่บ่มเพาะมานานกว่า 30 ปี มาสร้างกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง
ซึ่งหากทำได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ช่วยให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์และเห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ สวทช. มุ่งมั่นสร้างผลงานด้าน วทน. ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในการพัฒนา เน้นดำเนินงานการพัฒนาภายใต้ โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Strategy)
ทั้งนี้ สวทช.ก็ได้สร้างกลยุทธ์ NSTDA Core Business นำพลังวิจัย รับใช้สังคม
ด้วยปัญหาคอขวดที่งานวิจัยของประเทศไทยจำนวนมาก ยังไม่สามารถผลักดันไปสู่การใช้จริงในภาคส่วนต่างๆ ได้
โดย สวทช. ยุค 6.0 ในวาระแรกนี้ ได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า “NSTDA Core Business” โดยในเฟสแรกได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ
NSTDA Core Business
อย่างไรก็ตาม NSTDA Core Business คือการระดมความเชี่ยวชาญของบุคลากรจำนวนมากจากหลายส่วนงานมาขับเคลื่อนและผลักดันสมรรถนะหลักขององค์กร ให้นํามาสู่การใช้ประโยชน์จริงผ่านเครือข่ายพันธมิตร และสร้างผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
Traffy Fondue คือ แพลตฟอร์มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองในระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันรับแจ้งปัญหาแล้วมากกว่า 260,000 เรื่อง ช่วยลดเวลารับแจ้งปัญหาถึง 15 ล้านนาที มีการขยายผลการใช้งานไป 8,544 หน่วยงาน ใน 50 จังหวัด โดยมี 8 จังหวัด ที่ใช้งานทุกส่วนราชการ (นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น พะเยา ลำพูน ปราจีนบุรี ภูเก็ต และเพชรบูรณ์)
ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนการบริการสาธารณสุข ด้วยแพลตฟอร์ม A-MED Telehealth แพลตฟอร์มหลังบ้าน เพื่อช่วยให้บุคลากรทางแพทย์สามารถทำงานบนข้อมูลเดียวกัน ในการตรวจ รักษา และติดตามผู้ป่วย ในระบบ Home Isolation สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยใช้งานสะสมมากกว่า 1,360,000 คน สถานพยาบาล 1,400 แห่ง รวมถึงแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพมากกว่า 16,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับ สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมการแพทย์ และสํานักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ขยายผลสู่ระบบ A-MED Home Ward ระบบบริการดูแลผู้ป่วยใน ที่บ้าน และร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม ขยายผลสู่ระบบ A-MED Care ระบบการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ (Common Illness) แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถรับยาฟรีที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน
ในระยะแรกจะมุ่งเน้นภาคเอกชนที่มีความพร้อมจะพัฒนาด้วยการวิจัย และหน่วยงานในพื้นที่ เช่นกรุงเทพมหานคร ตลอดจนขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมาใช้งานอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
โดยใช้ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญของ สวทช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งพร้อมสนับสนุนและร่วมมือให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อม สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน EECi และสร้างผลงานวิจัยออกสู่ตลาดร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : สวทช