SHORT CUT
ในวงเสวนา: ประเด็น AI Ethic: Trust & Transparency จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" เกิดคำถามใหญ่ ๆ ว่า เราจะเชื่อใจ AI ได้แค่ไหน ? AI จะมีความโปร่งใสเฉกเช่นมนุษย์หรือดีกว่า ไปจนถึง AI ปลอดภัยแค่ไหนต่อมนุษย์ รวมถึง จริยธรรม และ กฎหมาย AI ต้องมีหรือไม่ ? ในวงพูดคุยครั้งนี้ มีคำตอบ
วงการพูดคุยเสวนา AI Ethic: Trust & Transparency ซึ่งถือเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในงาน AI REVOLUTION 2024: TRANSFORMING THAILAND ECONOMY จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. เปิดมุมมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากของการใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ คือ สังคมมีความเป็นห่วงมากเกินไป ว่าเป็นดาบสองคม แต่ไม่รู้จักว่าจะใช้งานทางบวกอย่างไร และระวังเรื่องทางลบอย่างไร ด้านบวกหากไม่ใช่ ก็เปรียบเสมือนดาบทื่อ กลายเป็นไม่นำมาใช้ประโยชน์ใดๆ เลย
ส่วนเรื่องการออกกฎหมายนั้น เชื่อว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และ เป็นเรื่องของการบังคับใช้มาสเตอร์แพลน ที่ย่อมต้องตามมากับพัฒนาการ การใช้ AI นั่นคือ การใช้งานอย่างมีจริยธรรม และมีกฎหมาย ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ควบคู่กับการพัฒนาคนให้ใช้งานอย่างมีจริยธรรม
ต่อไปเมื่อมีการนำ AI มาใช้ จะเชื่อได้อย่างไร ถ้า AI ตอบคำถามผิด จะรู้หรือมีกลไกในการตรวจสอบอย่างไร เพราะการตรวจ AI ไม่ได้ง่ายเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทดสอบออกมาได้ว่าโปรแกรมนี้ถูกหรือไม่
ขณะที่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA ให้ความเห็นว่า หากถามว่าปัจจุบันหลายประเทศ จุดไฟประเด็นเรื่องการบังคับใช้ AI การกลัวการมาถึง AI จริงๆ ประเด็นนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่กังวล สงสัย แต่ทุกอย่างควรมาพร้อมกับความเข้าใจการใช้ AI
ดังนั้นหากไทยไม่เข้ามาในตลาดหรือไม่นำเอา AI มาประยุกต์ใช้ก็จะเป็นการเสียโอกาส แต่หากจะพูดกันในเรื่องของกฎหมายควร Wait & See มากกว่า แล้วมาเตรียมความพร้อมเรื่องการกำกับดูแลให้เอไอมีธรรมาภิบาลประยุกต์ใช้ให้เข้ากับประเทศไทย
ยอมรับว่าคงไม่มีประเทศไหนที่อยากจะเสียโอกาสจากการนำเอา AI ใช้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการพัฒนาประเทศในทางด้านเศรษฐกิจ และทางสังคมแต่หากรากฐานของการกำกับดูแลการเอไอไม่แข็งแรงพอจะทำให้เกิดช่องโหว่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เราบรรดามิจฉาชีพใช้เอไอเข้ามาหลอกลวงประชาชนซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาสำคัญมากของโลกในขณะนี้
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด เติมประเด็นอีกว่า ประเด็นเรื่อง AI Governance ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ถูกบรรจุอยู่ใน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยี AI อย่างมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบ สอดคล้องกับมาตรฐานของสากล
ดังนั้น การพัฒนาบริการดิจิทัลตลอดจนการมี ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (Digital Service and AI Governance) โดยจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ และยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาว จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ท้าทาย ซึ่ง ETDA ได้มุ่งเน้นผ่านการดำเนินงานทั้งในมุมของการส่งเสริม และการดูแลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเอไอมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า AIS ในฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมดิจิทัลเซอร์วิสครบวงจร ความท้าทายคือการหาจุดสมดุลการนำเอาเอไอมาให้บริการเพื่อนำเสนอสินค้า และบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
แต่ความท้าทายคือ การใช้ AI ในขอบเขตที่พอดีกับความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าและการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเพราะในทุกๆ วัน บริษัทอย่าง AIS มีถังข้อมูลของลูกค้ามหาศาล ดังนั้น การนำเอไอมาใช้สำหรับเอไอเอสคือ เพื่อสร้างบริการที่เป็นเลิศ แต่อยู่ในกรอบจริยธรรมอย่างเข้มงวด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง