svasdssvasds

อนุฯ กสทช. เตรียมลงมติยกเลิก Must Have มุ่งเป้าป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด

อนุฯ กสทช. เตรียมลงมติยกเลิก Must Have มุ่งเป้าป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด

หลังเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) 2023 ครั้งล่าสุด ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 8 แสนเหรียญสหรัฐ หรือ 24 ล้านบาท ทำให้คอกีฬารู้สึกค่าใช้จ่ายแพงเกินไป และไม่อยากที่จะรับชม ทางอนุฯ กสทช. เองก็เตรียมยื่นยกเลิกกฏดังกล่าว

หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) ทั้งฉบับ โดยอยู่ในขั้นตอนการรับความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธาน ระบุว่า เหตุผลที่ยกเลิกกฎ Must Have ทั้งฉบับ ก็เพื่อป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาว่า อาจเป็นปัจจัยทำให้มีการเพิ่มค่าลิขสิทธิ์สำหรับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ โดยปกติแล้ว ผู้ขายลิขสิทธิ์รายการกีฬามักมีข้อกำหนดให้ผู้รับสิทธิถ่ายทอดนำไปออกทางฟรีทีวีด้วยอยู่แล้วเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม จึงสมควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ดให้รับในหลักการ แล้วจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งจะดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป

อนุฯ กสทช. เตรียมลงมติยกเลิก Must Have มุ่งเป้าป้องกันการบิดเบือนกลไกตลาด

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม 7 รายการที่อยู่ใน กฎ Must have จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ภายใต้การให้บริการฟรีทีวี ประกอบด้วย

  • การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
  • การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
  • การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
  • การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
  • การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
  • การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศดังกล่าว ก็เพราะกสทช.โดนโจมตีอย่างหนักในการนำเงินจากกองทุน USO ไปให้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จำนวน 600 ล้านบาท ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์

แต่กลับมีการนำลิขสิทธ์ไปขายต่อให้แก่เอกชนรายหนึ่งจนเป็นข้อพิพาท เพราะการรับชมของผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว ทำให้มีจอดำมากกว่าล้านรายในไทย

จากการประชุมบอร์ด กสทช.จำนวน 6 คน มีมติเอกฉันท์กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เพราะกกท. ไม่สามารถดำเนินการตามเอ็มโอยูได้ จนทำให้เกิดปัญหาโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก หรือ IPTV จอดำ ไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้

ดังนั้น การเอาออกจากประกาศฯ จะคล่องตัวมากกว่าและปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์และนำไปบริหารจัดการเอง สำหรับคดีการฟ้องร้องกับกกท.เรียกเงินคืน 600 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครอง โดยศาลฯ ก็ได้เรียกตัวแทนของสำนักงาน กสทช.ไปชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

ส่วนกรณีค่าถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ของไทย น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องที่ กกท. ระบุว่า กสทช. บีบบังคับให้ กกท. ดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน

เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. เชิญ กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มาหารือและชี้แจงทำความเข้าใจกฎ "มัสต์แฮฟ" และ "มัสต์ แครี่" ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า สำหรับการบังคับใช้ของกฎ "มัสต์ แฮฟ" และ "มัสต์ แครี่" จะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อ ลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย

แต่ตราบใดที่ไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับใช้ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อถือว่า ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมตามช่องทางต่างๆ ที่ระบุไว้แบบไม่เสียเงินค่ารับชม

อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าทาง กกท. จะดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของ กกท. ซึ่งแจ้งไว้คร่าวๆ ว่า กำลังหางบประมาณ และจะขอจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

ทั้งนี้ การพิจารณาทบทวนยกเลิก หรือไม่ยกเลิกกฎ "มัสต์แฮฟ" นั้น จะยึดหลักตลาดเรื่องกีฬามีการแข่งขันกันสูง ประกันการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน วิถีของวงการกีฬาของโลก และ กรอบ กติกา ที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลก การจะดำเนินการแก้กฎ "มัสต์แฮฟ" หรือถอดกีฬาใดกีฬาหนึ่งออกจาก "มัสต์แฮฟ" ต้องทำการรับฟังความเห็นสาธารณะ ต้องพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วน

โดยคณะทำงานจะหาสรุปประเด็นดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด เพราะเข้าใจดีว่าเป็นประเด็นที่สังคมจับตามอง เมื่อคณะทำงานศึกษาข้อมูลได้สรุปเสร็จจะต้องทำเสนอเข้าที่ประชุมอนุกรรมการโทรทัศน์เพื่อพิจารณา, ดำเนินการรับฟังความเห็นสาธารณะ ใช้เวลา 45 วัน

จากนั้นจะเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อจัดทำร่างและเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อลงมติ ก่อนจะลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ไทยรัฐ

related