SHORT CUT
22 ธันวาคม 2567 "วันตะวันอ้อมข้าว" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี สัญญาณเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศบนซีกโลกเหนือ ผลจากโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบโคจรรอบดวงอาทิตย์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NARIT เผยว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เป็นวันเหมายัน หรือ Winter Solstice วันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี เป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านสู่ฤดูหนาวของประเทศซีกโลกเหนือ และเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศในซีกโลกใต้ เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์และทำให้เกิด "ฤดูกาล" ขึ้นทั่วโลก
ในวันเหมายัน หรือ "วันตะวันอ้อมข้าว" ที่คนไทยรู้จัก คือวันที่ดวงอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้าในทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกในทิศตะวันตกเฉียงใต้มากที่สุดในรอบปี หมายถึงแม้ในวันนั้นจะเป็นเวลาเที่ยงตรงแต่เราอาจจะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ในทิศเฉียงไปทางใต้ ไม่โคจรผ่านจุดเหนือศรีษะ จึงทำให้เราเห็นว่า "ตะวันอ้อมข้าว" ไปนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย เราจะพบปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงขององศาเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ครั้งสำคัญปีละ 4 ครั้ง ในเดือน 3, 6, 9 และ 12
ในช่วงวันที่ 21-22 ของเดือน 3 และ 6 จะเป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน หรือวัน Vernal Equinox (ชื่อไทยคือวันวสันตวิษุวัตในเดือนมีนาคมและวันศารทวิษุวัตในเดือนกันยายน)
และในช่วงเดือน 6 และเดือน 12 จะเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานที่สุดตามลำดับ หรือวัน Summer Solstice (วันครีษมายัน) ช่วงวันที่ 21-22 มิถุนายน มีกลางวันยาวนานที่สุด และวัน Winter Solstice (วันเหมายัน) ช่วงวันที่ 21-22 ธันวาคม มีกลางคืนยาวนานที่สุด