svasdssvasds

20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ ลดความเสี่ยงการลงทุน

20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ ลดความเสี่ยงการลงทุน

การลงทุนไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินอีกต่อไป หากทำความเข้าใจกับ 20 คำศัพท์ควรรู้เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" เพื่อให้เข้าใจหลักการ พร้อมตั้งเป้าหมายการลงทุน เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างสบายใจ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีแบบยั่งยืน

การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ตาม ควรทำการศึกษาและเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อพอร์ตการลงทุน เริ่มต้นด้วยการศึกษาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ อย่างการลงทุนใน "กองทุนรวม" ว่าแต่ละคำศัพท์ที่นักลงทุนควรรู้นั้นมีอะไรบ้าง      

วันนี้ fintips by ttb จะมาแนะนำคำศัพท์เหล่านี้เพื่อให้นักลงทุนมือใหม่ได้รู้ และเข้าใจก่อนที่จะลงทุน

1. กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้น ๆ กำหนดไว้ โดยมี "ผู้จัดการกองทุน" ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน

2. ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ หรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้และผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ "ดอกเบี้ย" อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้และจะได้รับ "เงินต้น" คืน เมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่าง ตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน

fintips by ttb ชวนรู้ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ Photo by Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3. ตราสารทุน (Equity Instruments) คือ ตราสารที่กิจการออกขายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ ตราสารทุนแบ่งได้หลายประเภท เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

4. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) คือ กองทุนรวมที่ลงทุนทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะให้ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนในตราสารแต่ละประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ กองทุนรวมแบบผสมที่มีข้อกำหนดในการลงทุนในตราสารทุน (Balanced Fund) และกองทุนรวมแบบผสมยืดหยุ่น (Flexible Fund)

5. กองทุนลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 กองทุนรวม ได้แก่ Super Saving Funds (SSF) คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ฯลฯ และ Retirement Mutual Fund (RMF) คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท

fintips by ttb ชวนรู้ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ Photo by Freepik 6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้บริหารเงินลูกค้าในรูปแบบกองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

7. หน่วยลงทุน Net Asset Value (NAV) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยปกติแล้วจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

8. หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) คือ หนังสือที่ บลจ. เป็นผู้ออกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกองทุนให้ผู้ลงทุนทราบ ภายในหนังสือจะบอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น ประเภทของกองทุน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน สัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรอ่านและศึกษาข้อมูลในส่วนนี้ทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

9. Capital Gain คือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ กำไรที่ได้จาก Capital Gain ถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ (Capital Gains Tax) ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินได้จากการขายหรือโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี ส่วนในกรณีที่เป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

10. เงินปันผล (Dividend) คือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์ หรือหุ้นก็ได้ ซึ่งรายได้ส่วนดังกล่าวที่นักลงทุนได้รับจะต้องเสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่ จ่าย 10% แต่สามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้โดยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล

fintips by ttb ชวนรู้ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ Photo by Freepik 11. Dollar Cost Average (DCA) คือ วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ที่ลงทุนด้วยเงินลงทุนเท่า ๆ กันทุกงวด โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น โดยจะนิยมใช้กับการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังจับจังหวะลงทุนไม่ได้ หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร

12. Lump Sum คือ วิธีการลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อนในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และภาวะเศรษฐกิจได้ดี มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีเงินก้อน และรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากจับจังหวะลงทุนผิดก็อาจสร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก

13. ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เสื้อผ้า ราคาที่ดิน ฯลฯ ซึ่งหากเรามีเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้นได้น้อยลงกว่าเดิม โดยสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push Inflation)

14. ภาวะเงินฝืด (Deflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้า และบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ หรือพูดง่าย ๆ คือ ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อโดยสาเหตุของเงินฝืดเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น

15. Stagflation คือ การรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่ Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือชะงัก และ Inflation คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือเงินเฟ้อ Stagflation จึงหมายถึง ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน

16. Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน Government Spending คือ การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ

17. Federal Reserve (FED) คือ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง FED นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราคิดลด (Discount Rates) และการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าทิศทางในอนาคตและนโยบายของ FED จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ การคาดเดาจากการสื่อสารของ FED

fintips by ttb ชวนรู้ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" นักลงทุนมือใหม่ควรรู้ 18. Federal Open Market Committee (FOMC) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีหน้าที่ในการกำหนด และรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน โดยใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการเป้าหมายของอัตราการว่างงาน และเป้าหมายเงินเฟ้อ

19. การจัดพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolios) คือ การกระจายลงทุนในหลากหลายหลักทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน คาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ และมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร

20. Stop Loss คือ จุดตัดการลงทุน หรือจุดตัดการขาดทุน คือ การตั้งจุดตัดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น นักลงทุนอาจขาดทุน หรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็น หรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น

การลงทุนไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินอีกต่อไป หากทำความเข้าใจกับ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ "กองทุนรวม" ที่ควรรู้ เพื่อให้เข้าใจหลักการ พร้อมตั้งเป้าหมายการลงทุน เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างสบายใจ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีแบบยั่งยืน ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

related