svasdssvasds

กลต.แนะระวังถูกหลอก แยกให้ออก "ระดมทุน" หรือ "แชร์ลูกโซ่"

กลต.แนะระวังถูกหลอก แยกให้ออก "ระดมทุน" หรือ "แชร์ลูกโซ่"

กลต. เร่งออกหนังสือแนะนำการลงทุนสำหรับมือใหม่ อ่านข้อมูลให้ครบ ศึกษาข้อมูลให้มาก อย่าฟังแต่คำบอกเล่า หลังมีผู้ถูกหลอกผ่านช่องทางออนไลน์สูงขึ้น

การระดมทุน (fundraising) เป็นคำที่ใช้เรียกกิจกรรมการหาเงินสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจำกัด เช่น ญาติ เพื่อน หรือวงกว้าง เช่น ประชาชน เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณะ การกุศล หรือการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคลหรือบริษัท 

อย่างไรก็ดี มีการระดมทุนเพียงบางกรณีเท่านั้นที่อยู่ใน “ตลาดทุน” และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

 

การระดมทุน ภายใต้ พ.ร.บ. 

หลักทรัพย์ฯ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในกำกับดูแลการระดมทุนในตลาดทุนผ่านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ กำหนดให้บริษัทที่จะระดมทุนผ่านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม 

 

การระดมทุน ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จะมีคำว่า “หลักทรัพย์” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่มีหลักทรัพย์เป็นส่วนประกอบ การระดมทุนนั้น จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

นิยามคำว่า “หลักทรัพย์” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีลักษณะเป็น บัญชีรายชื่อตราสารที่เป็นหลักทรัพย์ (positive list)

ดังนั้น ตราสารที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว หรือไม่ถูกประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงไม่ใช่ “หลักทรัพย์” และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายนั้น 

 

ตราสารที่ถือเป็น “หลักทรัพย์” ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ประกาศกำหนดตราสารที่เป็นหลักทรัพย์เพิ่มเติม ได้แก่ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงใบทรัสต์ ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน และตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ

 

ดังนั้น กิจกรรมระดมทุนบางประเภทจึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เช่น

  • การระดมทุนผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา
  • การระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินในรูปของสัญญาเงินกู้ ซึ่งมิได้มีการแบ่งเป็นหน่วยแต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่ากันและกำหนดประโยชน์ตอบแทนไว้เป็นการล่วงหน้าในอัตราเท่ากันทุกหน่วย (ทำให้ไม่อยู่ในนิยามของหุ้นกู้)
  • การระดมทุนผ่านการขายสินค้าหรือให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ 

นอกจากข้อพิจารณาเกี่ยวกับ “หลักทรัพย์” แล้ว ผู้ระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ยังต้องเป็น “บริษัท” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วย 

บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึง องค์การมหาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ออกหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

การระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ 

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการระดมทุนโดยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นโทเคนดิจิทัลเท่านั้น และไม่รวมถึง "คริปโทเคอเรนซี"

โดย “โทเคนดิจิทัล” จะหมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ เรียกว่า “investment token”
  2. กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เรียกว่า “utility token” และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

ในปัจจุบัน โทเคนดิจิทัลที่ต้องขออนุญาตการเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบด้วย investment token และ utility token ที่ยังไม่สามารถแลกสิทธิได้ทันทีในวันที่มีการเสนอขาย (utility token ไม่พร้อมใช้)*

ดังนั้น การพิจารณาว่ามีกิจกรรมการระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่ามีการเสนอขาย “โทเคนดิจิทัล” ตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องขอรับอนุญาตหรือไม่

 

แชร์ลูกโซ่ 

เป็นการหลอกลวงระดมเงิน โดยมีการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น โดยมักอ้างว่ามีการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีรายได้สูงเพียงพอที่จะปันรายได้แจกจ่ายสมาชิก ได้อย่างทั่วถึง มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรก ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้เข้าร่วมลงทุน

แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กล่าวอ้างกับผู้ร่วมลงทุน แต่จะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่หมุนเวียนมาจ่ายให้สมาชิกเก่า และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป  

จากลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งไม่มีการประกอบธุรกิจหรือลงทุนใด ๆ แต่ใช้วิธีการหมุนเงินลงทุนของสมาชิกมาจ่ายเงินต่อ ๆ กันไป จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมทุนหรือการให้บริการในภาคตลาดทุน แม้ว่า อาจมีการหลอกลวงประชาชนโดยอ้างถึงการร่วมลงทุนเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ และหน่วยลงทุน หรือราคาสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น โทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอเรนซี

“แชร์ลูกโซ่” จึงไม่อยู่ภายในขอบเขตการกำกับดูแล ป้องกัน หรือปราบปรามการหลอกลวงของ ก.ล.ต. แต่จำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวง เช่น พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องเรียน หรือชี้เบาะแส มาที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หรือตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือบริษัทว่า ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ด้วยตัวเองได้ที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First”

related