SHORT CUT
เศรษฐา ยิ้มกริ่ม อะเมซอน ประกาศขยายโครงสร้างพื้นฐานกว่า 1.9 แสนล้านบาท เดินหน้าตั้งไทยเป็น AWS Asia Pacific (Bangkok) Region แห่งใหม่ พร้อมให้บริการแล้วในช่วงต้นปี 2568
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวในงาน AWS Summit ครบรอบ 10 ปี ของอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ว่า รัฐบาลมีความยินดีเป็นอย่างมากที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างการลงทุน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาทาง AWS ก็ได้มีการลงทุนด้านคลาวด์ 1.1 หมื่นล้านบาท การลงทุนต่อเนื่องแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมและเป็นประเทศที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ภาครัฐบาลเองก็ต้องมีการปรับปรุงงานบริการให้มีความโปรดักทีฟมากขึ้น สามารถเป็นหน่วยงานราชการที่ทันสมัยและยึดมั่นในนโยบาย Cloud First Policy ซึ่งทั้งภาครัฐเองก็ต้องปรับปรุงเรื่องของนโยบาย กระบวนการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ ซึ่งตอนนี้เรายังอยู่เฟสแรกของการมุ่งหน้าสู่รัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยี
นอกจากนี้ ผมยังมีการคุยกับทีมงานของ AWS ในการลงทุนด้านสตาร์ทอัป ซึ่งภาครัฐก็อยากเข้าร่วมด้วยเพื่อช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัปของไทยได้ไปถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งการเริ่มต้นใหม่มักจะมีความเสี่ยงสูงและถ้านักลงทุนทราบเรื่องความเสี่ยงและตลาดหลักทรัพย์ก็มีเบเนฟิตที่ดีก็น่าจะช่วยให้สตาร์ทอัปเหล่านี้ ได้ขึ้นเป็นบริษัทระดับโลกได้
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า รัฐบาลเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นหนึ่งในประเทศด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อย่างที่ทราบกันดีว่าจีน ไต้หวันและสหรัฐ มีการแข่งขันกันเรื่องการผลิตชิ้นส่วนนี้ และขยายโอกาสไปยังหลายประเทศ ซึ่งรัฐบาลเองก็อยากเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับโอกาสนี้เพราะเราเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายด้าน หากมีการตั้งโรงงานผลิตในไทย คนไทยก็จะได้รับประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ทางด้านของ นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำประเทศไทยของ AWS กล่าวว่า AWS ได้ให้บริการลูกค้าในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและส่งเสริมองค์กรทั่วทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ขั้นสูง
จึงได้ประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในไทย ด้วย AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ที่จะเปิดใหม่พร้อมให้บริการในช่วงต้นปี 2568 และมีเม็ดเงินการลงทุนมากกว่า 1.9 แสนล้านบาท (หรือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในประเทศไทยจนถึงปี 2580
คาดว่าจะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเลือกใช้บริการคลาวด์สำหรับรันแอปพลิเคชันและให้บริการแก่ผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม AWS Region ที่กำลังจะเปิดใช้งานนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ในประเทศไทย เพิ่มเติมจาก Amazon CloudFront edge ทั้งหมด 10 แห่งรวมถึง AWS Outposts และ AWS Local Zone ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
ทั้งนี้ AWS Region ใหม่นี้ถือเป็น Region ที่สี่ของ AWS ที่เปิดตัวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและล่าสุดที่ "ไทย" คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 นี้ และช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลของตนไว้ภายในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้าลดความหน่วงของการรับส่งข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการที่เติบโตขึ้นอย่างมากในการใช้คลาวด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ AWS Region จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยในด้านดิจิทัล และรองรับความต้องการด้านเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทั้งในประเทศไทยและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” และนโยบาย “Cloud-First” ของภาครัฐ ที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยโดยจะเข้าไปช่วยให้ลูกค้าตั้งแต่สตาร์ทอัป SMB องค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐ สามารถทดลอง พัฒนาและเติบโตในเรื่องของเทคโนโลยีล่าสุด เช่น Generative AI, แมชชีนเลิร์นนิง, Internet of Things เป็นต้น
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม