svasdssvasds

5 นวนิยายชื่อดัง ของ ทมยันตี ที่เรารู้จักผ่านละครและภาพยนตร์ ต้องหามาอ่าน!

5 นวนิยายชื่อดัง ของ ทมยันตี ที่เรารู้จักผ่านละครและภาพยนตร์ ต้องหามาอ่าน!

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการนักเขียนนักประพันธ์ เมื่อ ทมยันตี นามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบในวัย 85 ปี ซึ่งตลอดเส้นทางการทำงานได้สร้างผลงานอันเป็นที่รู้จักไว้มากมาย และท่านยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555 

ทมยันตี ทมยันตี เป็นหนึ่งในนามปากกาของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์  นักประพันธ์นวนิยายชื่อดังที่ฝากผลงานขึ้นหิ้งมาแล้วนับไม่ถ้วน นวนิยายของทมยันตีถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มากมาย หลายยุคหลายสมัย ด้วยสำนวนภาษาที่ทันกับยุคสมัย สอดแทรกไปด้วยแง่คิด ผสมผสานเป็นความเพลิดเพลินจนช่วยให้ผู้ที่อ่านอินไปกับเรื่องราว จนมีการนำมารีเมกเป็นละครหรือภาพยนตร์ไม่รู้กี่รอบ

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

รู้ไหมว่านอกจาก ทมยันตี แล้ว คุณหญิงวิมล ยังมีนามปากกาอื่นอีก!!!

-โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "กุหลาบราชินี" ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย วิมลกล่าวว่านามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ นามปากกานี้ใช้ครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง "ในฝัน"

-ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า "ลักษณวดี" มีความหมายว่า "นางผู้มีลักษณะดี , นางผู้งามเลิศ" วิมลนำชื่อ "ลักษณวดี" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ"

-กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า "กนกเรขา" แปลว่า "อักษรอันวิจิตร" วิมลนำชื่อ "กนกเรขา" ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "กนกนคร" ของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือพระนามเดิม คือ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) มาใช้เป็นนามปากกา

-ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี) แปลว่า "นางผู้มีความอดทนอดกลั้น" เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง "พระนลคำหลวง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ วิมลเริ่มใช้นามปากกานี้ในการประพันธ์นวนิยายเรื่อง "รอยมลทิน" เป็นเรื่องแรก

-มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ และเคยใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ "สนธยากาล" ลงในนิตยสารขวัญเรือน (ภายหลังนิตยสารขวัญเรือนได้เลิกกิจการ คุณหญิงวิมลได้เขียนเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย"

-วิม-ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของคุณหญิงวิมล ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ล้านนาเทวาลัย" โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

5 นวนิยายชื่อดัง ของ ทมยันตี ที่เรารู้จักผ่านละครและภาพยนตร์

คู่กรรม

คู่กรรม

เป็นนวนิยายแนวโศกนาฎกรรมและวีรคติของ ทมยันตี ที่ดำเนินเรื่องและมีฉากหลังเป็นประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเมื่อราวปี พ.ศ. 2508 จากการเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี และเข้าเยือนสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักที่มีร่างของเหล่าทหารสัมพันธมิตร โดยสะดุดใจเมื่อเห็นคำจารึกถึงบนหลุมศพทหารสัญชาติเนเธอร์แลนด์คนหนึ่ง เมื่อสอบถามดูได้ความว่าเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวที่มาเสียชีวิตลงที่ประเทศไทย โดยที่ผู้เป็นพ่อแม่มิอาจมาร่วมฝังศพของลูกชายได้ ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2508 และตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยาม ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือขวัญเรือน ต่อได้นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และเวอร์ชั่นในปีพ.ศ. 2533 ยังเป็นละครที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของเมืองไทยตลอดกาลด้วยเรตติ้ง 40

ล่า

ล่า

นิยายแนวชีวิตเป็นเรื่องราวของ มธุสร คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่งหย่าขาดกับสามี และต้องพาลูกสาวมาลำบากด้วย แต่เพราะตั้งใจจะประพฤติตนเป็นพลเมืองดี เอายาบ้าที่แก๊งวัยรุ่นแอบซุกใส่ในตุ๊กตาไปมอบให้ตำรวจ แก๊งวัยรุ่นซึ่งนึกแค้นเคืองเลยตามมาข่มขืนสองแม่ลูก กระทั่งมธุกรลูกสาวเสียสติกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด แม้มธุสรจะขึ้นศาลต่อสู้คดีความ แต่ศาลก็ไม่ได้พิจารณาโทษตายให้แก่คนทำผิด มธุสรจึงใช้ความพยาบาทเป็นแรงผลักดันให้หล่อนออกล่าคนที่ทำผิด นิยายเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มาแล้ว 3 ครั้ง สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 และเวอร์ชั่นล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 เรตติ้งพุ่งกระจายกับวลีฮิตที่ว่า “ความพยาบาทเป็นของหวาน”

ทวิภพ

ทวิภพ

อีกหนึ่งบทประประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ทมยันตี นำเสนอเรื่องราวของความรักต่างภพระหว่างอดีตและปัจจุบันมาบรรจบกัน โดยมีเรื่องของประวัติศาสตร์บ้านเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้มีอรรถรสที่ดูเข้มขึ้น โดยตัวละคร มณีจันทร์ ผู้มีความรักต่อชาติบ้านเมืองและแผ่นดินสยาม บทประพันธ์ชิ้นนี้ ทมยันตี ได้ใส่รายละเอียดของความเป็นอยู่ของบุคคลในสมัยเก่าได้อย่างแนบเนียนยิ่ง เป็นนวนิยายรักที่แฝงไปด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์บ้านเมืองและเกร็ดความรู้ทางด้านความเป็นอยู่ของบุคคลสมัยนั้นเป็นอย่างดี

พิษสวาท

พิษสวาท

นวนิยายแนวลึกลับสยองขวัญและดราม่า เป็นเรื่องราวความรักข้ามภพของวิญญาณผู้เฝ้าสมบัติแผ่นดินผู้เปี่ยมด้วยความรักและหน้าที่ ทำให้เกิดอาถรรพณ์ต่างๆ ตามมาด้วยแรงของกฏแห่งกรรมและผลลัพธ์ของการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งอยู่ในแกนของความจงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อชาติและแผ่นดิน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยปรัชญาที่ว่า รักที่แท้จริง คือการเสียสละและให้อภัย นิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง และเวอร์ชั่นล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 ที่เรตติ้งกระจาย ไม่มีใครไม่รู้จัก คุณอุบล

ใบไม้ที่ปลิดปลิว

ใบไม้ที่ปลิดปลิว

บทประพันธ์แนวเมโลดราม่าสะท้อนปัญหาของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ในบทประพันธ์ของ ทมยันตี กล่าวถึงสภาพสังคมในปี พ.ศ. 2531 ที่สังคมที่ไม่ยอมรับการมีตัวตนของบุคคลข้ามเพศ ผู้ที่เป็นบุคคลข้ามเพศมักจะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด เป็นโรคจิต บ้างก็ฆ่าตัวตาย แต่เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการเพิ่มเติมมุมมองในเรื่องความต่างระหว่างรุ่นของตัวละครพ่อและลูกชายที่เป็นบุคคลข้ามเพศ สิทธิในการมีตัวตนในสังคมของบุคคลข้ามเพศ และการให้อภัย ปล่อยวางอดีต

Cr. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย / Wikipedia.org / สำนักพิมพ์ บ้านวรรณกรรม