ปัจจุบันนี้เราจะได้ยินคำว่า ซึมเศร้า บ่อยมากขึ้น และยิ่งในยุคดิจิตัลแบบนี้การใช้ชีวิตเร่งรีบ มีความเครียดสะสมจากเรื่องต่างๆ มากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้นกันดีกว่า และลองเช็กว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงกับโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่
โรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ไม่ใช่โรคจิต!
โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุ อย่าง ความเครียดสะสม การมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การสูญเสียครั้งใหญ่ ฮอร์โมนบางชนิดเปลี่ยนแปลง แต่สาเหตุหลักของ ซึมเศร้า คือ ความไม่สมดุลหรือผิดปกติของสารเคมีในสมอง อย่าง สาร Serotonin และ Norepinephrine ที่ลดลงกว่าปกติ จึงส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด และระดับความสุข
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เช็กสัญญาณว่าเสี่ยงเป็น ซึมเศร้า หรือไม่?
หากรู้สึกเครียดจนรู้สึกว่า นี่เราเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า หรือว่าแค่เครียด ลองสังเกตตัวเองจากสัญญาณเหล่านี้ หากเป็นมากกว่า 5 ข้อ และเป็นติดกัน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีก่อนเข้าสู่ภาวะเรื้อรัง
1. รู้สึกว่างเปล่า หรือสิ้นหวัง อยู่ๆ ก็มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองอย่างที่เคยเป็น
2. เบื่อในสิ่งที่เคยชื่นชอบ ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำอีกต่อไป
3. นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ นอนนานผิดปกติ
4. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร
5. ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ รู้สึกกระสับกระส่าย หงุดหงิด กระวนกระวายใจ
6. น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากแบบผิดปกติ เพราะพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป
7. ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจอย่างที่เคยเป็น
8. มีความคิดว่าอยากตาย รู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก หากมีความรู้สึกแบบนี้ควรปรึกษาแพทย์ด่วน
เราจะป้องกันโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?
- จำกัดเวลาการใช้โซเชียล
โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น นอกจากเพื่อทำงานแล้ว ควรตั้งกฏกับตัวเองว่าเราจะเล่นโซเชียลวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อครบแล้วให้วางทันที แล้วลุกไปทำกิจกรรมอื่นแทน
- ดู Content อะไรที่เปิดโลก และสร้างสรรค์
หากวางมือถือลงไม่ได้จริงๆ แนะนำให้ดูอะไรที่สร้างสรรค์ไปเลย แทนที่การส่อง Facebook เปลี่ยนมาดู รายการประเภทที่ช่วยจุดประกายชีวิต เช่น เรื่องราวของนักสร้างสรรค์งานทั่วโลก บุคคลเจ๋งๆ ที่มีแนวคิดอะไรที่เปิดมุมมองใหม่ๆ หรือแม้แต่สารคดีอาหาร การท่องเที่ยวต่างประเทศ จะทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ยังมีอะไรน่าสนใจอีกเพียบ ทำให้เราอยากออกไปใช้ชีวิตให้มากขึ้น
- ทำ Vlog ในสิ่งที่เราถนัด
ลองค้นหาตัวเองดูว่าอะไรที่เราทำได้ดี เรื่องไหนที่เราเชี่ยวชาญ สิ่งไหนที่เราเล่าให้เพื่อนฟังทีไร เพื่อนจะต้องร้อง Wow นั่นแหละคือ ความเจ๋งในตัวคุณ แค่เล่ามันออกมา ถ่ายวิดีโอตัวเองแบบง่ายๆ ฝึกตัดต่อวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือ แล้วแชร์ออกไปบนโลกโซเชียล แค่นี้เราก็จะสนุก และได้อินสไปร์คนอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย