เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีหลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสาวๆ ที่มีคำถามข้องใจทั้งเรื่องโรคประจำตัว ยาที่ต้องกินประจำ เป็นประจำเดือน ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่ เรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญมาไขข้อข้องใจ ผู้หญิงกับการฉีดวัคซีนโควิด-19
Q : ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
A : ฉีดได้ แต่อาจทำให้อ่อนเพลียเล็กน้อย จริงๆ แล้วสำหรับผู้ที่สุขภาพดี 90-100 % ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการรับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากผู้หญิงที่มีประจำเดือนสามารถฉีดวัคซีนได้ หากใครที่ปวดท้องประจำเดือน ไม่ถึงขั้นปวดในระดับผิดปกติที่เสี่ยงต่อโรคร้ายแรงทางสูตินรีวิทยา หรือผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรเว้นระยะการมีระดูประมาณ 1-2 วัน จึงค่อยไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้หมดประจำเดือน
เรามีข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้หญิงกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จาก พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย แนะนำ ขั้นตอนการเตรียมตัวไปรับวัคซีนของผู้หญิงที่มีประจำเดือน
1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2.ทำใจให้สบายไม่จำเป็นต้องเครียด หรือกังวลกับข่าวที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการรับวัคซีนมากเกินไป
3.รับประทานอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
สรุปจำนวนองค์กรที่ประสงค์ขอรับวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เทียบให้เข้าใจง่ายๆ วัคซีนซิโนแวค VS ซิโนฟาร์ม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เรื่องควรรู้ในการเตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยจิตเวช
Q : ผู้หญิงมีครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ควรเข้ารับวัคซีนโควิดหรือไม่?
A : รับวัคซีนได้ เมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ หรือหากใครกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะพิจารณาการให้วัคซีนในกรณีต่างๆ เช่น
-ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ พยาบาล หรืออยู่ในพื้นที่การระบาดสูง เป็นต้น
– อายุครรภ์ หากมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
– ชนิดของวัคซีน
* หากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น วัคซีน Sinovac ตามหลักการน่าจะปลอดภัย
* มีข้อมูลการให้วัคซีน mRNA บ้างพบว่าปลอดภัย ส่วนวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ เช่น วัคซีน AstraZeneca ควรปรึกษาแพทย์
– ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากติดโรคโควิด-19 เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้
ส่วนผู้หญิงที่กำลังจะเตรียมตัวมีบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว ควรเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปหลังอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน
Q : ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร ควรเข้ารับวัคซีนหรือไม่?
A : รับวัคซีนได้ และไม่จำเป็นต้องงดการให้นมบุตรหลังรับวัคซีน และผู้หญิงที่ให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากส่วนประกอบของวัคซีนมีโอกาสผ่านน้ำนมน้อยมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องงดให้นมบุตร
Q : การรับวัคซีน จะกระทบกับภาวะเจริญพันธุ์ การให้กำเนิดหรือการมีบุตรยากหรือไม่?
A : ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเจริญพันธุ์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาที่บ่งชี้เป็นผลทำให้มีบุตรยาก
Q : มีความสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับการใช้ยาคุมกำเนิด สามารถฉีดได้หรือไม่ มีข้อมูลอย่างไร?
A : การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ความความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ และมีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนดังนี้
1.ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาฉีดคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวพบได้น้อยมากในสตรีไทย และยังพบได้น้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ซึ่งมีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ
2. ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิต-19 ในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด
3. ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้
4.หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เฟซบุ๊กของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแม้เกิดได้น้อยมากๆ ก็ตาม แต่ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยกลไกของผลข้างเคียงจาก 'วัคซีนโควิด-19' ที่สำคัญประการหนึ่ง (นอกจากการแพ้เฉียบพลัน) คือการจุดให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหดตัว และลิ่มเลือด และเป็นเหตุผลที่ต้องละเว้นยาที่มีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวอยู่แล้ว เช่นยาแก้ปวดไมเกรนและยาแก้หวัด คัดจมูกกลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ สำหรับผู้ที่ใช้ ‘ยาคุมกำเนิด’ ‘ฮอร์โมนเพศหญิง’ ควรงดยาก่อนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน
Cr. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / www.hfocus.org / กรมควบคุมโรค / ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย / Facebook : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha