กระทรวงต่างประเทศ ชี้แจง กรณีที่ ไทย "งดออกเสียง" มติ UN ในประเด็น ประณามการรัฐประหารเมียนมา รวมถึงขอเรียกร้องให้นานาชาติ ห้ามค้าอาวุธเมียนมา เป็นเพราะไทยอยากให้ทุกฝ่ายสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และหันหน้ามาเจรจากันมากกว่า...ไม่ใช่แค่การลงมติผ่านทาง UN
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN เพิ่งจะมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้นานาชาติห้ามขายอาวุธให้กับคณะรัฐประหารเมียนมา ซึ่งในจำนวนชาติสมาชิกทั้งหมด ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรส่งเสริมคณะรัฐประหารเมียนมา ขณะที่ไทยซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง เลือกที่จะ "งดออกเสียง" กับประเด็นนี้
มติ 119ชาติ หยุดค้าอาวุธให้เมียนมา
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN มีการลงมติ เพื่อประณามการรัฐประหารเมียนมา นำโดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธุ์และเรียกร้องให้นานาชาติ ห้ามค้าอาวุธให้กับคณะรัฐประหารเมียนมา โดยการลงมติครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างชาติตะวันตกในยุโรป กับชาติสมาชิกในอาเซียน การลงมติครั้งนี้ มีชาติเข้าร่วมที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN มีชาติสมาชิกจำนวน 119 ชาติที่ "เห็นด้วย" กับมติ ห้ามค้าอาวุธให้กับคณะรัฐประหารเมียนมา โดยมีชาติยักษ์ใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ที่เห็นด้วย
ขณะที่ จอ โม ตุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของเมียนมา ลงมติ "เห็นด้วย" กับมตินี้ เพื่อยืนยันว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคณะรัฐประหารเมียนมา โดยก่อนหน้านี้ จอ โม ตุน เคยชู 3 นิ้วในที่ประชุม จนกระทั่งโดนรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งปลดจากตำแหน่งมาแล้ว
ไทย : "งดออกเสียง"
อย่างไรมีเสียงจาก 1 ชาติเพียงเท่านั้นที่ "ไม่เห็นด้วย" กับการห้ามค้าอาวุธให้กับเมียนมา นั่นคือเบลารุส ขณะที่ 36 ชาติ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่งดออกเสียงต่อประเด็นนี้ ซึ่งหนึ่งใน 36 ชาติในนี้มีไทยรวมอยู่ด้วย และที่สำคัญ มีชาติร่วมอาเซียนที่ไม่งดออกเสียงกับประเด็นนี้ ร่วมกับไทย อาทิ สปป.ลาว ,บรูไน และกัมพูชา ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่ ที่ "งดออกเสียง" เพื่อสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้ มี อาทิ รัสเซีย,จีน รวมถึง ชาติผู้นำอาหรับ อาทิ ซาอุฯ และอียิปต์
ส่วน สิงคโปร์,อินโดนีเซีย,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม คือชาติในอาเซียนที่ "เห็นด้วย" กับจุดยืนที่ว่า ห้ามค้าอาวุธให้กับคณะรัฐประหารเมียนมา
อย่างไรก็ตาม แม้มตินี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็ถือว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างยิ่ง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ถือว่า มีไม่บ่อยนัก ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN จะลงมติต่อต้านการรัฐประหารของชาติสมาชิก แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า มติครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อ คณะรัฐประหารเมียนมาสักเท่าไร เพราะเชื่อว่า คณะรัฐประหารเมียนมายังสามารถหาช่องทางอื่นๆ ในการหาอาวุธ หรือ ปฏิบัตการยึดอำนาจต่อไป ซึ่งตอนนี้ก็กินเวลามาเกือบ 5 เดือนเต็มแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกตป. ชี้แจ้ง ต้องมองหลายด้าน
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงต่อการลงมติ "งดออกเสียง" ของไทยครั้งนี้ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว ต้องเร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ทุกฝ่ายหันมา เจรจากันมากกว่า หาใช่แค่การลงมติผ่านทาง UN เท่านั้น
โดย นายธานี แสงรัตน์ ระบุว่า เหตุการณ์ความรุนแรงและการสู้รบในเมียนมา มีผลด้านความมั่นคงโดยตรงต่อไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปในการลงมติครั้งนี้ ดังนั้นการกระทําทุกอย่างของประเทศไทยจึงต้องกระทําอย่างรอบคอบ และต้องคํานึงผลที่จะตามมาในทุกๆ ด้าน จึงเลือกการ "งดออกเสียง"
โดย สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกระทําการใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ความขัดแย้งบานปลาย ที่จะเพิ่มความเกลียดชังและความโกรธแค้นของทุกฝ่ายให้มากขึ้นจนทําให้ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่สามารถระงับดับลงได้โดยสันติวิธีได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยกังวลและให้ความสําคัญที่สุด คือประชาชนชาวเมียนมา ผู้ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์จากการสู้รบจากความขัดแย้งทางการเมืองของหลายฝ่ายในเมียนมา
โดยไทย ได้ดําเนินการเพื่อนําไปสู่สันติภาพในเมียนมาอยู่แล้วในหลายๆ ทาง ทั้งที่ร่วมกับอาเซียน และไทยไม่เคยนิ่งดูดายในเรื่องเหตุความไม่สงบในเมียนมา และการดําเนินการเหล่านั้นมิได้มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกจากจะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ อันจะทําให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่ขบวนการเจรจาสันติภาพเพราะนั่นคือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยุติความไม่สงบในเมียนมาได้
อียูเคยคว่ำบาตรเมียนมา
ในช่วงเมษายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ก็เคยออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐประหารเมียนมา โดยคว่ำบาตร ผู้บัญชาการทหารเมียนมา 10 นาย และบริษัทยักษ์ใหญ่ของกองทัพ 2 บริษัท แสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารประเทศ และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ไทยเคยขอให้เมียนมาลดความรุนแรง
ขณะที่ ตอนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่อินโดนีเซีย เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว. ต่างประเทศไปร่วมประชุมแทนในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกฯ
และดอน ปรมัตถ์วินัย โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์โดยแนะนำหลักการที่เรียกว่า D4D เพื่อสร้างประชาธิปไตยและการพัฒนาในเมียนมาด้วยการ:
1. ลดระดับความรุนแรง (De-escalation of violence)
2. ส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ (Delivery of humanitarian and medical assistance)
3. ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง (Discharge of political detainees) และ
4. เปิดให้คู่ขัดแย้งได้เข้าร่วมการเจรจา (Dialogue participation)
อย่างไรก็ตาม เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ไทยไม่เคยประนามการก่อรัฐประหารเมียนมา ซึ่งนำโดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย เลย
สำหรับการลงมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN ครั้งนี้ อาจจะไม่มีผลต่อคณะรัฐประหารเมียนมา และบทบาทของ UN อาจจะเป็นเสือกระดาษอย่างที่ใครหลายคนเคยปรามาสไว้ เพราะแค่ "ลงมติ" ประณาม และห้ามค้าขายอาวุธกับเมียนมา ยังต้องปล่อยให้เวลา ล่วงเลย มา 5 เดือนเลย และมีผู้คนเมียนมาล้มตายไปกับรอยกระสุนของคณะรัฐประหาร มากกว่า 860 คน...
ขณะเดียวกันการมีมติห้ามค้าอาวุธให้รัฐบาลเมียนมานั้น อาจยังมีข้อสงสัยเรื่องความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซีย และจีน ซึ่งเป็นแหล่งซื้ออาวุธที่สำคัญของเมียนมา ก็ไม่ได้มีมติเห็นด้วย แถมหลังการลงมติ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา ก็เดินทางไปร่วมประชุมด้านความมั่นคงที่รัสเซียทันที