ตั้งแต่วันกองทัพเมียนมา วันที่ 27 มีนาคม ซึ่งกลายเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงเลย เพราะแม้กองทัพเมียนมาจะประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว แต่สิ่งที่ประกาศออกมา ยังไม่มีใครเชื่อ ช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงเพิ่มสูงขึ้นไม่เคยหยุด
-จากวันที่ 27 มีนาคมที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตเกิน 100 แต่หนึ่งวันหลังจากนั้น มีเหตุปะทะกันระหว่าง กองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (เคไอเอ) กับทหารเมียนมาบริเวณเหมืองหยกในเมืองพ่ากั่น รัฐกะฉิ่น ที่กองกำลังเคไอเอลงมือโจมตีสถานีตำรวจและฐานที่มั่นทหารเพื่อตอบโต้การโจมตีทางอากาศถล่มที่มั่นของกลุ่มตน นอกจากนี้ คณะรัฐประหารเมียนมา ยังมีการยิงใส่ผู้ชุมนุม ทั้งในเมืองย่างกุ้ง เมืองพะโค มินลา ขิ่นอู และเมืองเดโมโซ
- กองกำลังฝ่ายความมั่นคงเมียนมายังคงใช้กำลังรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง โดยมีการยิงเข้าใส่ฝูงชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในย่างกุ้ง
- ด้าน ทำเนียบขาวของสหรัฐได้ประณามการสังหารพลเรือนในเมียนมาว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าขยะแขยง พร้อมทั้งเรียกร้องอีกครั้งให้มีการฟื้นคืนประชาธิปไตยในเมียนมา ขณะที่นายอันโตนิอู กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติหรือ UN ร้องขอให้กองทัพเมียนมายุติการสังหารและปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง
- ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทย ที่มีผู้อพยพเข้าชิดชายแดนที่แม่ฮ่องสอนเป็นจำนวนมาก จากเหตุ ปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ชี้ ไม่มีการผลักดันผู้อพยพกลับเมียนมา
- ขณะที่ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการตามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (ทีไอเอฟเอ) ออกไปแบบไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้น
- ผู้ประท้วงในเมียนมา ปรับกลยุทธ โดยตามท้องถนนในย่างกุ้ง เต็มไปด้วยขยะมากมาย หลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวประกาศใช้มาตรการ "ประท้วงขยะ" โดยให้ประชาชนพากันนำขยะมาทิ้งตามสี่แยก
- สื่อ เมียนมา นาว รายงานว่า รัฐบาลคู่ขนานเมียนมา เริ่มมีการวางแผน เจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งกองทัพสหพันธรัฐ เพื่อต่อสู้กองทัพเมียนมา ขณะที่ชาวเมียนมาเองก็มีจำนวนมากที่ เริ่มเข้าป่า และฝึกอาวุธเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังตอบโต้คณะรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย
- ด้านสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ออกหนังสือแถลงการณ์ประณามการโจมตีทางอากาศร้ายแรงต่อพลเรือนชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง และบอมบ์เหมืองทองของกะเหรี่ยงที่กองทัพเมียนมาปฏิบัติ นอกจากนี้ เคเอ็นยู ปฏิเสธข่าว ยิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาตก โดยก่อนหน้านี้ กองทัพส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านกะเหรี่ยง 2 รอบ และฮ.ของเมียนมาตก และทางเคเอ็นยูจับตัวนักบินและเจ้าหน้าที่ของเมียนมาเป็นเชลยได้ 8 คน
- ด้าน ชนกลุ่มน้อยกลุ่มคะฉิ่น (เคไอเอ) , กลุ่มเอเอ.หรือ ยะไข่ และกลุ่มป่ะหล่อง ออกแถลงการณ์ จะร่วมพิทักษ์ประชาชน จากกองทัพเมียนมา
- ส่วน ไทย นำโดย อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แสดงท่าทีโดย ขอร้องทางการเมียนมา อดกลั้น ยุติใช้ความรุนแรง ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว
- นายมิน มิน โซ หนึ่งในทนายความของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพเมียนมายึดอำนาจไป เปิดเผยว่านางซูจียังมีสุขภาพแข็งแรง ในระหว่างที่ได้เขาพูดคุยกับนางซูจีทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันเดียวกัน โดยหลังจากนั้น นางซูจี ถูกตั้งข้อหากบฎเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหา ที่มีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ส่วนข้อหาเดิมที่ขณะรัฐประหารเมียนมากล่าวหานางซูจีก็คือผิดเรื่องการนำเข้าวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย และการละเมิดกฎควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19
- สถานการณ์ประท้วงในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกระดับ เมื่อยังคงมีการชุมนุมประท้วงในหลายเมืองแบบไม่เกรงกลัวการปราบปราม ด้วยการรวมตัวกันจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในตอนกลางคืน ต่อด้วยการเดินขบวนประท้วง เผารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหารในตอนเช้า โดยมีทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่ และรัฐธรรมนูญที่ผู้ประท้วงจัดทำขึ้นเอง เพื่อนำมาเผาโดยเฉพาะ ทั้งในที่ชุมนุมและที่บ้านเรือนราษฎรในหลายเมือง ตามการเรียกร้องของแกนนำในการประท้วงในเมียนมาที่เรียกการรณรงค์นี้ว่า “พิธีฉลองกองไฟรัฐธรรมนูญ”
- เกิดไฟไหม้ห้างสรรพสินค้า กันดามา ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ในย่างกุ้ง และรูบี มาร์ท ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัทธุรกิจของกองทัพเมื่อราวตีสองคืน ต่อเนื่องมาจนถึงตอนเช้าวันเดียวกันนี้ แต่เหตุการณ์นี้ ฝ่ายผู้ประท้วงคิดว่าเป็นการ "จัดฉาก" ของกองทัพเมียนมา เพราะห้างเป็นของกองทัพ และเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์ที่มีแต่กองทัพเท่านั้นที่ออกมาตามท้องถนนได้
- รัฐบาลเมียนมาประกาศหยุดปฏับัติการทางทหาร 1 เดือนกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม และเว้นแต่กลุ่มที่ไปโจมตีทหารเมียนมาเท่านั้น ที่ฝ่ายทหารเมียนมาจะดำเนินตอบโต้ หลายฝ่ายมองว่า ทหารเมียนมาไม่มีความจริงใจมากว่า การหยุดยิงน่าจะเป็นการปรับกำลัง และหาทางส่งเสบียงอาหารให้ทหาร เป็นต้น.
- ประชาชนเมียนมาในหลายหัวเมืองทั่วประเทศ ยังคงแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งๆที่ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมจนมีผู้เสียชีวิตแทบทุกวัน ในขณะที่ทางการเมียนมาก็ดำเนินความพยายามทุกอย่างเพื่อสกัดการชุมนุมและยับยั้งการเผยแพร่พฤติกรรมอำมหิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารด้วยการประกาศปิดการใช้งานอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายทั้งหมด และจำกัดให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์หรือเคเบิลเท่านั้น
- องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ออกแถลงการณ์ "ประณามอย่างแข็งกร้าว" ต่อการเสียชีวิตของพลเรือนหลายร้อยคนในเมียนมา ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็กเป็นจำนวนมาก ในขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงเร็วจนน่าวิตก แต่ จีนและรัสเซีย เป็นสองประเทศยักษ์ใหญ่ที่พยายามขวาง "มติลงโทษเมียนมา"
- เซฟเดอะชิลเดรน องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีเด็กที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกสังหารโดยกองทัพเมียนมาแล้วอย่างน้อย 43 ราย และตอนนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด เกิน 500 คนไปแล้ว
...ทิศทางความรุนแรงในเมียนมา ดูจะยังมองไม่เห็นถึงทางออก และแสงที่ปลายอุโมงค์ปัญหาครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปล่งประกายออกมาเลย เพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นานาชาติต้องร่วมกดดันเมียนมาให้มากขึ้น รวมถึงไทยด้วย ที่แม้จะมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อยกับคณะรัฐประหารเมียนมา แต่ "ควรจะ" จริงใจกับเรื่องนี้มากกว่าเดิม ...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ยุติชั่วคราว! ทหารเมียนมาหยุดยิง 1 เดือนกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่แสดงท่าที
• เปิดไทม์ไลน์วันกองทัพเมียนมา : นองเลือดมากที่สุดสู่การอพยพสู่ฝั่งไทย
• เมียนมานองเลือด ทหารไล่ยิง มอเตอร์ไซค์ขับผ่าน ประชาชนพากันวิ่งหนีตาย