เหตุการณ์ทำร้ายเอ็มมานูเอล มาครง หรือ "ตบหน้ามาครง" กลายเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก นั่นสะท้อนถึงคำถามเรื่องความปลอดภัยของผู้นำประเทศ และเหตุการณ์นี้ทำให้นึกย้อนอดีตไปถึงการทำร้ายผู้นำของประเทศต่างๆ อาทิ การปารองเท้าใส่จอร์จ บุช , ปารองเท้าใส่ เวิน เจีย เป่า เป็นต้น
มาครงโดนทำร้ายต่อหน้าสาธารณชน
กลายเป็นข่าวที่ขึ้นพาดหัวในทุกสำนักข่าว เมื่อ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถูกทำร้าย ต่อหน้าสาธารณชน และเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นไวรัลต่างประเทศที่กระจายไปทั่วโลก พร้อมกับการตั้งคำถามถึง ความปลอดภัยของผู้นำระดับประเทศ ที่ถูกลอบทำร้ายได้สร้างความน่าหวาดหวั่น โดยเหตุการณ์นี้ในเบื้องต้น เอ็มมานูเอล มาครง มาเยี่ยม ผู้คนที่ชุมชน แตง-เลมิตาฌ (Tain-l'Hermitage) ในจังหวัดโดรม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
โดย เอ็มมานูเอล มาครง เดินเข้าหารั้วเหล็กเพื่อทักทายผู้คน ก่อนจะจับมือกับชายคนหนึ่งและเริ่มพูดคุยกัน แต่จู่ๆ ชายคนนั้นก็ตบเข้าไปที่แก้มซ้ายของประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมกับตะโกนเรียกร้องให้ยุติ "มาโครนี" หรือ “ร่วงไปพร้อมๆกับลัทธิมาครงซะ” ซึ่งเป็นคำที่สื่อของฝรั่งเศสใช้เรียกยุคสมัยการปกครองของนายมาครง
ขณะที่ นางมารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายค้าน คู่แข่งคนสำคัญของมานูเอล มาครง ออกมาประณามการโจมตีครั้งนี้ โดยระบุว่า การใช้กำลังทำร้ายประธานาธิบดีเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงลอบทำร้ายมาครงเพราะเหตุใด แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมาเรื่องมาตการโควิด-19 ที่ฝรั่งเศสล็อกดาวน์เป็นเวลานาน หรืออาจจะเป็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งศาสนาที่ในฝรั่งเศสมีมาอย่างยาวนาน
ย้อนรอยเหตุการณ์ทำร้ายผู้นำที่โลกต้องจดจำ
เหตุการณ์การทำร้ายเอ็มมานูเอล มาครง ต่อหน้าสาธารณชนนั้น อาจจะไม่รุนแรงถึงชีวิต...แต่มันก็สะท้อนว่า ผู้นำของแต่ละประเทศอาจตกเป็นเป้าของการโจมตี และการลอบทำร้าย มุ่งทำให้เกิดความอับอายจากคนที่ไม่เห็นด้วย และในอดีตเคยมีเหตุการณ์ของการลอบทำร้ายที่โลกต้องจดจำ มากมาย อาทิ...
เดือด! “เอ็มมานูเอล มาครง” ปธน.ฝรั่งเศษ ถูกปชช.ตบหน้า ขณะเข้าทักทายและลงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศ ชายผู้นั้นตะโกนว่า 'ระบอบมาครงจงล่มสลาย' รายงานระบุ ชาย 2 คน ถูกควบคุมตัวทันที #Macron pic.twitter.com/CfdYEKdXO2
— People-press (@Armreport_) June 8, 2021
ปารองเท้าใส่จอร์จ บุช
ย้อนกลับไปในปี 2008 ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ บุช เยือนกรุงแบกแดด อิรัก และขณะแถลงข่าวอยู่นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อ มันทาดาร์ อัล-เซดิ นักข่าวชาวอิรัก ที่ปารองเท้าใส่ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในระยะใกล้ แค่ 4-5 เมตร พร้อมทั้งตะโกนด้วยความเครียดแค้นว่า "นี่คือการจูบลาจากชาวอิรัก จากแม่หม้าย จากเด็กกำพร้า และจากคนที่ถูกสังหารในอิรัก"
ภายหลังเหตุการณ์ นาย อัล-เซดิ หาเสียง สมัครเป็นส.ส. อิรัก โดยหวังว่าจะสามารถชิงที่นั่งในสภาผู้แทนฯได้ด้วย นอกจากนี้ยังประกาศว่าสหรัฐฯต้องขอโทษต่อประชาชนเพื่อนร่วมชาติของเขาเรื่องการทำสงครามอิรัก โดย ณ เวลานั้น จอร์จ บุช ของสหรัฐฯเป็นผู้อนุมัติในการบุกโจมตีอิรักเพื่อล้มการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี พ.ศ.2003
รองเท้าบินเฉียดอดีตผู้นำจีน
ย้อนหลังกลับไปปี 2009 เคยมีเหตุการณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีจีน เวิน เจีย เป่า ถูกผู้ประท้วงคนหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 27 ปี ปารองเท้าใส่ ในขณะที่ เวิน เจีย เป่า กำลังกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ที่ประเทศอังกฤษ
โดยรองเท้าตกห่างจากนายเวิน เจีย เป่าประมาณ 1 เมตร ก่อนที่ผู้ต้องหาจะยอมให้จับกุมแต่โดยดี ซึ่งระหว่างเกิดเหตุ อดีตนายก เวิน เจีย เป่า ไม่ได้แสดงท่าทีตกใจและกล่าวสุนทรพจน์ต่อจนจบหลังผู้ปารองเท้าถูกนำตัวออกจากห้องประชุม
ขณะที่ ณ เวลานั้น สื่อในประเทศจีน แทบไม่ได้รายงานเหตุการณ์นั้นในประเทศจีน โดย สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเพียงแค่ว่า เกิดเหตุขัดข้องระหว่างที่นายกฯเวินกล่าวสุนทรพจน์ที่อังกฤษ แต่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุขัดข้องที่ว่านี้คืออะไร ด้านสถานีโทรทัศน์ ซีซีทีวี ซึ่งถ่ายทอดสดการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ ได้ตัดภาพอย่างกระทันหันทันทีที่เริ่มมีการประท้วง
ปาไข่ใส่นายกออสเตรเลีย
สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย คนปัจจุบัน ในช่วง 2 ปีที่แล้ว ที่กำลังหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 18 พฤษภาคม 2019 อยู่ในงานของสมาคมสตรีชนบทแห่งออสเตรเลีย ณ เมืองอัลเบอรี มีสาววัย 25 ปีเดินอ้อมไปทางด้านหลังของมอร์ริสัน และโยนไข่ฟองหนึ่งใส่ศีรษะของเขา โดยไข่ฟองนั้นปะทะศีรษะของนายมอร์ริสันและกระเด็นออกมา ทว่าไม่แตก
ดูเหมือนว่าไข่จะกลายเป็นเครื่องมือแสดงความไม่พอใจทางการเมืองอย่างหนึ่งในออสเตรเลียปีนี้ หลังจากที่เดือนมีนาคมในปี 2019 วุฒิสมาชิกรัฐควีนสแลนด์ เฟรเซอร์ แอนนิง ถูกวัยรุ่นชายอายุ 17 ปีในเมลเบิร์นกระแทกไข่เข้าใส่ศีรษะ ภายหลังเขาพยายามเชื่อมโยงผู้อพยพชาวมุสลิมเข้ากับเหตุสังหารหมู่มัสยิดไครสต์เชิร์ช
เหตุการณ์ที่รวบรวมมานี้ สะท้อนให้เห็นถึง ผู้นำแต่ละประเทศต่างเป็นเป้าการโจมตีทำร้ายของฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเป้าของการแสดงความไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม การมุ่งทำร้ายร่างกายกัน ไม่ใช่สิ่งที่สร้างสรรค์หรือจรรโลงใดๆเลย เพราะทุกคนไม่มีสิทธิ์ตัดสินใครด้วยการใช้กำลัง หรือกระทำสิ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอาย
... หากแต่ควร มาพูดคุยกันบนความขัดแย้ง และร่วมหาทางเดินร่วมกันมากกว่า...ใช้กำลังทำร้ายกัน!