ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสในปาเลสไตน์ ยังไม่มีทีท่าจะลดดีกรีลงเลย ยอดผู้เสียชีวิตทะลุเกินหลักร้อยคนแล้วจากทั้ง 2 ฝ่าย ความรุนแรงกำลังจะกลายเป็นชนวนสงครามเต็มรูปแบบอีกครั้ง แต่หลายฝ่ายก็พยายามให้คู่ขัดแย้ง มาจบลงที่โต๊ะการเจรจาสันติภาพ
• หลายชั่วอายุคนแห่งความขัดแย้ง
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เกิดขึ้นมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว แต่วิกฤตการณ์ล่าสุด ที่กองทัพอิสราเอลและกลุ่มหัวติดอาวุธฮามาส ระดมยิงจรวดและการโจมตีทางอากาศใส่กันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดละ นับตั้งแต่วันพุธ 12 พฤษภาคม และหากวิกฤตไม่ลดดีกรีลง อีกไม่นานมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ
หากย้อนเข็มนาฬิกา กลับไปหาเหตุสงคราม เอาแค่หลังช่วง 30 ปีหลัง ปลายปี 1995 นายกรัฐมนตรียิตซัค ราบิน ของอิสราเอล ถูกลอบสังหาร จากนั้นปี 2001 อิสราเอลลอบสังหารแกนนำกองบัญชาการใหญ่แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ปีต่อมา 2002 กลุ่มฮามาสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย สังหารพลเรือนอิสราเอล 30 คน และ อิสราเอลก็ตอบโต้ทันที ยึดครองเขตเวสต์แบงค์เกือบทั้งหมด
ตัวอย่างเพียงเท่านี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพของ ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ที่ไม่มีทีท่าลดลาวาศอกกัน
กลับมาที่ปี 2021 อิสราเอล-กลุ่มฮามาส สองคู่ขัดแย้ง ใช้จรวดและการโจมตีทางอากาศใส่กัน เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว หลังเหตุปะทะระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ในนครเยรูซาเลม กรณี อิสราเอลพยายามขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากเขตเมืองเก่า ฝั่งตะวันออกของเยรูซาเลม
• ภาพอันน่าสลด
เหตุการณ์ในฉนวนกาซ่าโดยเป็นพื้นที่ที่กลุ่มฮามาสอยู่ ซึ่งกองกำลังอิสราเอลได้โจมตีอาคารที่พักอาศัยหลายแห่ง ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันอังคาร 11 พ.ค. 2564 โดยอาคารฮานาดี เรสซิเดนเชียล ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่พักอาศัย 13 ชั้น ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองตามภาพที่ปรากฏในสื่อทั่วโลก ซึ่งตึกถล่มคาตาประชาชนทั้งโลก
โดยมีการเตือนให้พลเรือนย้ายออกก่อนจะมีการยิงระเบิดใส่ ตึกอัล-จอฮารา ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน ก็ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ในขณะที่ตึกอัล-ชูรุค ก็ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลองเช่นกันในวันที่ 12 พ.ค. 2564 อาคารอื่นๆ ได้รับความเสียหายบางส่วน เนื่องจากมีการเล็งเป้าหมายที่อาคารบางแห่ง
• ปมปัจจัยที่ก่อความรุนแรง
หนึ่งในเรื่องที่ถูกเชื่อมโยงในความรุนแรงครั้งนี้ คือ ปีนี้วันสิ้นสุดรอมฎอน ซึ่งเป็นเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งชาวมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในปาเลสไตน์ บังเอิญเกิดขึ้นพร้อมกับวันสำคัญของชาวอิสราเอลหลายวัน รวมถึง “Jerusalem Day” ซึ่งเป็นวันที่ชาวยิวขวาจัด ออกมาฉลองชัยชนะในเยรูซาเลมตะวันออก จากสงครามเมื่อปี 1967 และพวกเขาได้เดินพาเหรดพร้อมธงอิสราเอล ไปยังพื้นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมในชุมชนเก่า นับเป็นเรื่องที่ปลุกปั่นยั่วยุ
เมื่อวันจันทร์ ที่ 10 ก่อนจะมีการปะทะกันอย่างรุนแรงด้วยอาวุธ ได้เกิดเหตุ เมื่อวันจันทร์ ตำรวจอิสราเอล ปะทะกับชาวปาเลสไตน์นับพัน ที่มัสยิด “อัล อักซอ” ซึ่งเป็นมัสยิดสำคัญมาก ๆ ของชาวมุสลิม ทำให้มีคนบาดเจ็บ 300 กว่าคน และตำรวจอีกกว่า 20 คน ซึ่งนับเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่สุดของทั้งชาวยิว และมุสลิม และนั่นทำให้การโจมตีทางอากาศตามมา
• ความเคลื่อนไหวฝั่งอิสราเอล
ปฏิเสธความจริงไม่ได้เลยว่า นี่คือ การปะทะกันรุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปีระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ และสถานการณ์ได้ยกระดับความตึงเครียดขึ้นอีกขั้น จนตอนนี้มีผู้เสียชีวิตเกิน 100 รายแล้ว
ฝั่งอิสราเอล เริ่มใช้กำลังทหารอิสราเอล บุกโจมตีภาคพื้นดินในฉนวนกาซาแล้ว และโจมตีพร้อมกันทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศด้วย
โดยกองทัพอิสราเอลระบุด้วยว่า กลุ่มฮามาสยิงจรวดข้ามพรมแดนเข้าไปในอิสราเอลแล้ว 1,700 ลูกตั้งแต่เริ่มปะทะกันเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม แต่ราว 90% ของจรวดที่ฮามาสยิงมา ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศ “โดมเหล็ก” หรือ "ไอรอนโดม" ยิงทำลายได้กลางอากาศ นอกจากนี้ อิสราเอลระบุว่า มีจรวดราว 400 ลูกที่ฮามาสยิงไปไม่ถึงในอิสราเอล แต่กลับตกลงภายในกาซ่าเอง
• ฮามาสไม่ได้กลัวอิสราเอล
ขณะที่ฝั่งกลุ่มฮามาส โดย อาบู โอเบดา โฆษกของกองทัพฮามาส เผยว่า ฮามาสไม่ได้มีความเกรงกลัวการบุกโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอลเลย และการส่งทหารอิสราเอลบุกฉนวนกาซ่า คือโอกาสที่กลุ่มฮามาสจะได้สังหารหรือจับทหารอิสราเอลเป็นเชลยศึก เรียกได้ว่าพร้อมสู้สุดใจเอาให้แตกหัก แต่ที่ผ่านมา มีการยืนยันแล้วว่า มีผู้บัญชาการระดับสูงของฮามาสหลายคน เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล โดยบุคคลสำคัญที่สุดที่เสียชีวิตคือ บัสเซม อิสซา ผู้นำปฏิบัติการทางทหารของฮามาสในเมืองกาซ่า ซิตี้
• กระทบธุรกิจสายการบินนานาชาติ
ความรุนแรงของการโจมตีทางอากาศ ทำให้มีสายการบินทั่วโลกยกเลิกเที่ยวบินไปอิสราเอลแล้ว อาทิ สายการบิน Delta Airlines, American Airlines, United Airlines, Lufthansa และ British Airways ขณะที่การปะทะกันระหว่างกองทัพอิสราเอล และกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ดำเนินไปอย่างดุเดือด
• ใครสนับสนุนใคร
ส่วนสหรัฐ ภายใต้การทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังไม่ยอมแสดงท่าทีอย่างชัดเจน โดย ณ เวลานี้ ไบเดน ยังไม่ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอิสราเอล ผิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เสนอชื่อบุคคลมาทำหน้าที่ดังกล่าว ตั้งแต่ก่อนที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ลึกๆแล้ว ทุกฝ่ายทราบกันดีว่า อิสราเอล-สหรัฐเป็นมิตรกันมายาวนาน
ขณะที่ กลุ่มฮามาสใน ปาเลสไตน์ ซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่เยอะมากนั้น ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาหรับ และสนับสนุนจากประเทศมุสลิม อาทิ อิหร่าน
• เปรียบเทียบขุมกำลังอิสราเอล-ปาเลสไตน์
ถ้าหากเปรียบเทียบขุมกำลังของอิสราเอล กับ กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ถือว่า อิสราเอลมีกองกำลังที่เหนือกว่ามาก แต่กลุ่มหัวรุนแรงฮามาสใช้วิธีลอบซุ่มโจมตีแบบกองโจร
โดยกำลังทหารอิสราเอลมีราวๆ 630,000 นาย ขณะที่ปาเลสไตน์ มี 105,000 นาย ขณะที่รถถังอิสราเอลมีราว 2,200 คัน ส่วนปาเลสไตน์ มี 70 คัน , อิสราเอลมีรถหุ้มเกาะ 6766 คัน ส่วนปาเลสไตน์มี 140 คัน
อิสราเอล มีเครื่องบินรบ 700 ลำ , เฮลิคอปเตอร์ 176 ลำ ,เรือดำน้ำ 5 ลำ , หัวรบนิวเคลียร์ 200 หัว ขณะที่ปาเลสไตน์ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย
• ไทยเป็นกังวล
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยแพร่ถ้อยแถลงของไทยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ระบุว่า ไทยมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและปาเลสไตน์ในขณะนี้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงการกระทำยั่วยุใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง และส่งผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บและสร้างความเสียหายต่อสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไปมากกว่านี้ ไทยขอแสดงความเสียใจและความเห็นใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นประจำระหว่างสองฝ่าย และมักจบลงด้วยการเจรจาของอียิปต์ กาตาร์ และสหประชาติ และยังไม่เคยเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบเลย แต่ครั้งนี้ หากนานาชาติยังไม่เข้ามามีบทบาทในการช่ววยเจรจาสันติภาพ ก็มีสิทธิ์ที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลาย...
ทุกเหตุการณ์ความรุนแรง ทุกสงคราม จบลงที่โต๊ะการเจรจา และการพูดคุยกันเสมอ....