ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช แถลงในเช้าวันจันทร์ที่ 23 มีค.63 ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้เห็นภาพชัดเจน โดยย้ำว่าไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่ทุกคนต้องตระหนัก เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกัน
ข้อเท็จจริงจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เราได้ทราบถึงเหตุผลว่า ทำไมจำเป็นต้องประกาศปิดเมือง หรือล็อคดาวน์
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า โลกแบ่งกลุ่มประเทศติด COVID เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่คุมอยู่ นั่นคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกลุ่มที่คุมไม่อยู่ เช่น อิตาลี เยอรมนี และประเทศในแถบยุโรป ส่วนประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วง GOLDEN PERIOD คือจุดพลิกผันว่าเราจะไปเป็นแบบประเทศกลุ่มไหนคุมได้ หรือ คุมไม่ได้
กลุ่มประเทศที่คุมไม่อยู่นั้น ตัวเลขจะพุ่งจาก 100 เป็น 200-300 ใช้เวลาเพียงสามวัน ซึ่งไทยตอนนี้เป็นแบบนั้น หากเราไม่ทำอะไรเลย อีกหนึ่งเดือนนับจาก 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่เคสเกินร้อย เคสจะเยอะขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 351,948 ราย
แต่ถ้าหากเราคุมอยู่ จะเพิ่มประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 24,000 ราย ซึ่งเราหวังให้เป็นอย่างนั้น ใน 15 เมษายน เคสต้องไม่เกิน 24,000
ถ้าเราคุมด้วยการ LockDown ทุกคนอยู่บ้าน จากยอดติดเชื้อ 350,000 ราย จะเหลือ 24,000 ราย จากเคสนอนโรงพยาบาล 53,000 ราย จะเหลือ 3,600 ราย จากที่ต้องนอนไอซียู 18,000 รายจะเหลือแค่ 1,200 ราย และยอดผู้เสียชีวิตจาก 7,000 กว่าราย จะเหลือไม่ถึง 500 ราย กรณีนี้จะเกิดได้ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน
ถ้าภูมิเราคุมไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายไม่อยู่ ไวรัสจะพุ่งไปที่ปอด คนจะไม่รู้ตัว อาการปกติ แต่ไวรัสจะทำลายเนื้อปอด จนเริ่มมีอาการ ไข้ ยิ่งถ้ามีเหนื่อยหอบ อาจจะแสดงว่า ปอดเสียหายแล้ว ถ้าคนไข้แบบนี้เยอะขึ้น ไทยอาจต้องทำแบบอิตาลี คือ ต้องเลือกว่าจะรักษาใคร
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า จากตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อกรณีที่เลวร้ายที่สุด worst case อยู่ที่ 350,000 รายนั้น จำนวนหมอที่เรามีตอนนี้มีแค่ 37,160 คน มีเตียงทั้งหมดทั่วประเทศรวมทุกวอร์ดอยู่ที่ 7,063 เตียง และเคสไอซียูใช้เวลาเป็นสองสามสัปดาห์ การหมุนเวียนเตียงจะไม่พอเพียงอย่างแน่นอน
ในอิตาลี 8 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เสียชีวิตเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเพราะอุปกรณ์ป้องกันไม่พอ ซึ่งสต๊อคของไทยตอนนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่พอ ข่าวโควิด
การคาดการณ์ของสมาคมอุรเวชช์ ระบุว่า วันที่ 30 มีนาคมนี้ ไทยจะมีคนติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,500 ราย และในปลายสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน จะเพิ่มเป็น 7,500 ราย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายธรรมชาติของโรคระบาด และมาตรการที่ควรใช้ คือ
ระยะที่หนึ่ง เมื่อมีคนติดเชื้อเข้ามาในประเทศ เราต้องปิดกั้นการเดินทาง แต่ตอนนั้น ไทยไม่ได้ทำ ตอนนี้เพิ่งทำปิดด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากขึ้น
ระยะที่สอง คนติดเชื้อแพร่ให้คนของในประเทศ ต้องเอาคนติดเชื้อไปแยก (ISOLATION) ส่วนคนในประเทศที่สัมผัส ต้องถูกนำไปกักกัน(QUARANTINE) และไทยฝช้วิธีคัดกรองแค่การวัดไข้ เลยมีที่เล็ดลอด
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ แนะว่า ที่ต้องทำอีกอย่างคือ ปิดพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด โรงแรม ผับ บาร์ สนามกีฬา ตอนนี้ทำแล้ว เพิ่งทำ รวมถึงคนที่ไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยง เวลาไปหาหมอต้องบอกหมอด้วย
ระยะที่สาม มีการแพร่เชื้อกันเองในประเทศ มาตรการที่ต้องทำคือ ปิดประเทศ ปิดเมือง และไม่ให้คนในเมืองเดินทางพร่ำเพรื่อ ต้องเก็บตัว (SHELTER in PLACE) หรือ WORK from HOME โดยมีระยะเวลาตัดวงจรระบาดอยู่ที่ 2 สัปดาห์ ตามระยะฟักตัว แต่ตามปฏิบัติคือ 3 สัปดาห์ เพราะต้องเผื่อการกระจายออกไปอีกด้วย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า โรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน ไม่รวมกลุ่ม ไม่กินข้าวนอกบ้าน ไม่ไปสถานบันเทิง
เวลาที่คนคุยกันปกติจะมีละอองน้ำลายออกมาจากปากประมาณ 3000 ละอองในระยะ 1 เมตร นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC ถึงแนะนำให้ยืนห่างกัน 2 เมตรขึ้นไป
ควรยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่คนหมู่มากจะมาอยู่ร่วมกัน บางประเทศปิดขนส่งสาธารณะเลยทีเดียว
จีนปิดประเทศปลายมกราคม ลดการออกนอกประเทศของเคส COVID ได้ 70.5 เปอร์เซ็นต์ สกัดคนที่คิดว่าจะมีเชื้อออกนอกประเทศได้ถึง 779 คน หลังปิดไปได้กว่าสามสัปดาห์ ทำให้สกัดคนมีเชื้อออกไปได้ 81.3 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ที่จีนมี และก็หวังว่าทุกประเทศทั่วโลกจะช่วยกัน
หลักการ Work@Home
วัดที่ผลงาน ไม่ต้องดูชั่วโมงการทำงาน และแบ่งทีมเป็นสองทีมทำงาน ถ้าทีมใดมีเคสติดเชื้อ อีกทีมจะได้ทำงานได้ (ในกรณีที่ต้องทำงานสาธารณะ)
สุดท้าย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า ถ้าเราช่วยกัน บ้านเราจะดีขึ้นภายในอีก 9 เดือน และภายใน 1 เดือนนี้เราจะเริ่มคุมได้